เริ่มใหม่ ปรับแผนสร้าง “แทรมภูเก็ต” ลดต้นทุน 1.5 หมื่นล้าน

13 พ.ค. 2565 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2565 | 21:05 น.
817

“คมนาคม” สั่งรฟม.ศึกษาแทรมภูเก็ตใหม่ หลังต้นทุนค่าก่อสร้างพุ่ง หวั่นกระทบค่าโดยสารเพิ่มขึ้น เร่งหารือทล.ขอใช้พื้นที่ลุยแก้เส้นทางเดินรถ คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

“แทรมภูเก็ต” เป็นโครงการที่รฟม.พยายามผลักดันโครงการเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้สะดวกในอัตราค่าโดยสารที่เข้าถึงได้ แต่ที่ผ่านมากลับถูก “คมนาคม” ตีกลับตลอด เนื่องจากกระทรวงให้ความเห็นว่า หากมีการปรับรูปแบบการก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง จะทำให้กรอบวงเงินลงทุนโครงการลดลงประมาณ 15,289 ล้านบาท และลดระยะเวลาการก่อสร้างจากเดิม 9 เดือน ส่งผลให้ต้นทุนต่ำลง และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลงได้

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต ช่วงสนามบินภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. ปัจจุบันกระทรวงได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปศึกษาทบทวนโครงการดังกล่าวใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และปรับลดวงเงินการลงทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้โครงการนี้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ สามารถใช้บริการได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งมีค่าโดยสารเริ่มต้น 20-40 บาท

 


“กระทรวงฯ ได้สั่งให้ รฟม.ไปปรับปรุงแผนโครงการใหม่ โดยให้ไปหารือร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ในความเป็นไปได้ของการปรับใช้พื้นที่ถนนทางหลวงเป็นแนวเส้นทางเดินรถ อาจจะเวนคืนที่ดินไหล่ทางเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเป้าหมายโครงการฯต้องปรับการใช้งบประมาณในการก่อสร้างอุโมงค์หรือทางยกระดับลดลง”

ที่ผ่านมาจากผลการศึกษาของ รฟม.พบว่าแนวเส้นทางของโครงการฯมีการพัฒนาในส่วนของงานขุดเจาะอุโมงค์ และทางยกระดับ ซึ่งเป็นการลงทุนค่อนข้างสูง ส่งผลให้การคำนวณราคาค่าโดยสารมีราคาแพง ไม่ดึงดูดการใช้งาน โดยเฉพาะหากเทียบกับระบบขนส่งอื่นๆ ในจังหวัดภูเก็ต อาจทำให้โครงการนี้เมื่อเปิดให้บริการแล้ว จะมีเพียงผู้โดยสารกลุ่มนักท่องเที่ยว ในขณะที่ประชาชนในจังหวัดอาจจะไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

 

 


นอกจากนี้กระทรวงได้เสนอให้ รฟม.ศึกษาแนวทางในการจัดเก็บค่าโดยสาร จากเดิมที่ รฟม.พิจารณาใช้โมเดลค่าโดยสารคล้ายกับรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ที่มีการปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง โดยกระทรวงฯ มองว่าโมเดลดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้โดยสารในจังหวัดภูเก็ต เพราะอาจไม่ได้เดินทางในระยะใกล้ ดังนั้นไม่ควรจัดเก็บค่าโดยสารปรับเพิ่มเป็นอัตราขั้นบันไดจากจำนวนสถานี แต่ให้ศึกษาใช้โมเดลปรับราคาค่าโดยสารแบ่งเป็นโซนพื้นที่ อาทิ การเดินทาง 3 โซน มีค่าโดยสารจัดเก็บ 3 ราคา เป็นต้น

 

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต โดยมีความชัดเจนว่าจะปรับระบบขนส่งจากเดิมเป็นรถไฟฟ้าล้อเหล็ก ให้เป็นรถไฟฟ้าล้อยาง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการลงทุนลดลง เนื่องจากไม่ต้องทำแนวเส้นทางเดินรถให้เป็นรางเหล็ก จะพัฒนาเพียงการตีแนวเส้นทางเพื่อนำทางเดินรถเท่านั้น
 

นอกจากนี้ รฟม.ยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับ ทล. เพื่อศึกษาความเหมาะสมของการใช้พื้นที่ถนนทางหลวงในการปรับเพิ่มช่องจราจรเพื่อรองรับการเดินรถไฟฟ้าล้อยาง เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงฯ ลดการลงทุนส่วนของเส้นทางเดินรถที่เป็นพื้นที่ต่างระดับ และอุโมงค์ เบื้องต้นคาดว่าการหารือร่วมกับ ทล.จะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้ และรายงานไปยังกระทรวงคมนาคม 

 

เริ่มใหม่ ปรับแผนสร้าง “แทรมภูเก็ต” ลดต้นทุน 1.5 หมื่นล้าน

หากแผนพัฒนาโครงการที่ปรับเปลี่ยนใหม่นี้แล้วเสร็จ รฟม.จะต้องเสนอไปยังคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อทบทวนการลงทุนใหม่ รวมทั้งต้องเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เพื่อปรับรายงานใหม่ หากได้รับการอนุมัติจึงจะเริ่มต้นขั้นตอนประกวดราคาได้ เบื้องต้น รฟม.ประเมินว่าขั้นตอนต่างๆ อาจจะแล้วเสร็จทันปีนี้ เพื่อเริ่มต้นร่างเอกสารประกวดราคา

 

 

“ตอนนี้ขั้นตอนเหมือนเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เราต้องปรับแบบพัฒนาเพื่อลดต้นทุนและทำราคาค่าโดยสารให้เหมาะสม นอกจากนี้ต้องศึกษาโอกาสของการหารายได้เพิ่มขึ้น จากการพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารตามแนวสถานีต่างๆ ทำให้เป็นคอมเมอร์เชียลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ก็เชื่อว่าจะดำเนินการขั้นตอนต่างๆ แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด หากได้รับการอนุมัติ รฟม.ก็พร้อมดำเนินการขั้นตอนประกวดราคา”