รื้อแผนลุยรถราง ART รฟม.บูม3 หัวเมืองใหญ่

21 ต.ค. 2564 | 09:49 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 16:56 น.
1.5 k

รฟม.บูม 3 หัวเมืองใหญ่ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช ลงพื้นที่ซาวด์เสียงผู้ประกอบการท่องเที่ยว ปรับแผนศึกษาสร้างรถรางล้อยาง ภายในเดือน พ.ย.นี้ หวังลดต้นทุนงบประมาณ สอดรับภาวะเศรษฐกิจในไทย คาดชงบอร์ด-คมนาคม ไฟ เขียว ช่วงไตรมาส 2 ปี 65 เริ่มเปิดประมูลปี 66

ปัจจุบันหลายจังหวัดมีการขยายเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดขนาดใหญ่ อย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดด้านการท่องเที่ยว หัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญของไทย อีกทั้งจะมีการเปิดประเทศภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้ เร่งลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดระยะเวลาการเดินทาง การจราจรติดขัดบนท้องถนน ซึ่งจะส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึง การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างเม็ดเงินสะพัดตามมา 

 

 

นายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 30,000 ล้านบาทว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นร่วมกับสภาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารฟม.มีการศึกษาโครงการฯเบื้องต้น พบว่ามีกระแสของผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสภาอุตสาหกรรมต้องการกลับไปลงทุนโครงการในรูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) แบบเดิม รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รฟม.ยังไม่ได้ลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว คาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นโครงการสายแรกที่จะนำร่องลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อพิจารณาการก่อสร้างโครงการในรูปแบบรถรางล้อยาง (ART)

รื้อแผนลุยรถราง ART  รฟม.บูม3 หัวเมืองใหญ่

“จากกระแสดังกล่าวให้กลับมาใช้รูปแบบการก่อสร้างแทรมนั้น รฟม.จะลงพื้นที่สร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสภาอุตสาหกรรม เนื่องจากระบบรถไฟฟ้า ความจุผู้โดยสารไม่ได้แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณในการลงทุนที่ถูกลงและสอดคล้องกับการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐและภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ หากต้องการให้โครงการเกิดได้เร็ว ทุกส่วนก็ควรช่วยลดภาระต้นทุนในการดำเนินการด้วย” 

 

 

สำหรับการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวจะช่วยประหยัดงบประมาณการลงทุน จำนวน 10,000 ล้านบาท ลดลง 30% จากงบประมาณโครงการ เพราะรูปแบบการการสร้าง ART ไม่ต้องวางระบบราง โดยใช้รูปแบบการก่อสร้างบนพื้นผิวจราจรตามปกติ ทั้งนี้หลังจากลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ จะนำผลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อมาจัดทำข้อมูลการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน (Pubiic Hearing)อีกครั้ง และจะนำข้อมูลทั้งหมดมาปรับปรุงเพื่อดำเนินการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) คาดว่าไตรมาส 2 ของปี 2565 จะสามารถเสนอคณะกรรมการรฟม.,กระทรวงคมนาคม,คณะกรรมการPPP และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงปลายปี 2565 ตามลำดับต่อไป และจะเริ่มเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างภายในปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยบางช่วงจะใช้รูปแบบทางยกระดับและบางช่วงจะดำเนินการเป็นอุโมงค์ทางลอด

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า หากลงพื้นที่สำรวจโครงการนี้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปใช้ในโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (แทรมเชียงใหม่) ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (แทรมโคราช) สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.15 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7,115 ล้านบาท ขณะที่โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัลพิษณุโลก มีระยะทาง 12.6 กม. ปัจจุบันรฟม.ยังไม่ได้ศึกษา เนื่องจากผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ขึ้นอยู่กับการเปิดใช้สถานีพิษณุโลกของโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ (ระยะที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก) ทำให้รฟม.ต้องรอแผนงานโครงการรถไฟความเร็วสูงสายดังกล่าวก่อนว่าเป็นอย่างไร

 

 

แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์ระบุว่าหากมีระบบขนส่งมวลชนรางเกิดขึ้นในพื้นที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์บริเวณโดยรอบสถานี นอกจากส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ลดความแออัดคับคั่งจราจรบนท้องถนน จากการใช้รถยนต์ส่วนตัว