CKPower รายได้ Q1 โตพรวด 442 ล้าน ย้ำเพิ่มลงทุนพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง

12 พ.ค. 2565 | 15:56 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 23:37 น.

ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ประกาศรายได้รวมไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 442 ล้านบาทจากอานิสงส์ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูง เผยทิศทางการลงทุนปี 2565 จะเน้นเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งใน ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 1/2565 ว่า CKPower มีรายได้รวม 2,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จำนวน 442 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 38.7 ล้านบาท

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
 
ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ของบริษัทในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 คือราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากตามสถานการณ์ในตลาดโลก มีผลทำให้รายได้ในส่วนของโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานซึ่งส่วนใหญ่คือค่าก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 627.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะเผชิญกับสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวน บริษัทยังคงมีปัจจัยบวกจากการลดลงของส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกันและบริษัทร่วม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 29.2 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานของบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ที่ดีขึ้น

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะยังคงผันผวนและอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ดี สถานการณ์น้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีแนวโน้มดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสที่ 1/2565 มีปริมาณน้ำไหลเข้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.9 และปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งหากสถานการณ์น้ำยังคงดีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี โรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งสองของบริษัทจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของ CKPower ในภาพรวมให้แข็งแกร่ง


สู่เป้าหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำสุด
 
“สำหรับทิศทางและเป้าหมายธุรกิจของ CKPower ในปี 2565 ได้มุ่งเน้นสู่การเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีระดับคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ต่ำที่สุดรายหนึ่ง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการมุ่งสู่สังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 โดย CKPower ได้ตั้งงบลงทุนจำนวน 2,600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทุนตามสัดส่วนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ใน สปป.ลาว และลงทุนเพิ่มเติมในโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งของบริษัทที่ 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 และเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่า 95% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท” นายธนวัฒน์ กล่าว

บริษัทจะลงทุนเพิ่มเติมในโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม

นอกจากนี้ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทประจำปี 2565 ยังได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.080 บาท จากกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 650.4 ล้านบาท โดยการจ่ายปันผลในครั้งนี้ ถือเป็นการจ่ายปันผลในจำนวนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของ CKPower ซึ่งบริษัทจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565

CKPower ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท
 
ทั้งนี้ CKPower ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย

 
(1) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ 


(2) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และ 


(3) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์