นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา Go Green 2022 ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว ว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในปี ค.ศ. 2045 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ พร้อมส่งเสริมให้เกิดธุรกิจสีเขียวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อยู่ที่ประมาณปีละ 350 ล้านตันต่อปี ถือว่าสูงในอันดับต้น ๆ ของโลก แยกเป็น ใช้พลังงานภาคครัวเรือน และการขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนฯรวมกันประมาณ 250 ล้านตันต่อปี และการปล่อยในภาคไฟฟ้าอีก 100 ล้านตันต่อปี
อย่างไรก็ตามด้วยปริมารการปล่อยก๊าซที่สูงในขณะนี้ หากจะไปให้ถึงเป้าหมายที่ประกาศเอาไว้ จำเป็นต้องปรับลดลงให้ได้ครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะการส่งเสริมพลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งการผลิตจากลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงงานกำลังดูข้อมูลเพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ทั้งวัน รวมทั้งการจัดเก็บไฟฟ้าในเทคโนโลยีกักเก็บ เช่นเดียวกันการจัดหาพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนภาคขนส่งตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลงอย่างน้อย 50% ผ่านนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV เป็นหลัก โดยตั้งเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศ หรือประมาณ 7 แสนคัน ในช่วงปีค.ศ.2030 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า
แต่อย่างไรก็ตามยังต้องทำควบคู่ไปกับแผนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่า เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ โดยเบื้องต้นประเมินว่า จะช่วยดูดซับได้อีกอย่างน้อย 120 ล้านตัน
ขณะเดียวกันยังเตรียมการนำเอาเทคโนโลยีการการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) มาใช้ในหลุมก๊าซธรรมชาติที่เริ่มมีปริมาณการลดลง ซึ่งจะกักเก็บได้อีกนาน 4 ปี และยังเป็นโอกาสในการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตที่มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นได้ด้วย
ส่วนสุดท้าย คือ การประหยัดพลังงานที่สามารถทำได้ทันที โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐต่าง ที่สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์การประหยัดพลังงานเช่น การเปลี่ยนหลอดไปธรรมดามาเป้นหลอดแอลอีดี ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้อีกมหาศาล และหากทำได้ทั้งหมดจะช่วยดึงดูดการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นธุรกิจสีเขียวด้วย