ปตท. สผ.วางเป้าสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ปี 2050

11 พ.ค. 2565 | 17:01 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 02:13 น.

ปตท.สผ. บรรลุเป้าหมายลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเร็วกว่ากำหนด 8 ปี เดินหน้าสู่องค์กร Net Zero Greenhouse Gas Emissions ในปี 2050

นางนาถฤดี โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.  กล่าวว่า ปตท. สผ.มีเป้าหมายลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2012   ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในปี 2022 จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 8 ปี  และจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกสะสมได้มากกว่า  3 ล้านตัน คาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่า

ปตท. สผ.วางเป้าสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ปี 2050

บริษัทจึงได้กำหนดเป้าหมายใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติ  และสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ Cop26 ดังนี้ บริษัทจะลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2030 ที่ร้อยละ 30   และในปี 2040 ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2020   เพื่อสู่เป้าหมาย Net Zero Greenhouse Gas Emissions ในปี 2050

โดยได้กำหนดแผนการดำเนินการภายใต้แนวคิด EP Net Zero ดังนี้  E:Exploring for Lower Carbon E&P Portfolio  บริหารจัดการ E&P Portfolio เพื่อมุ่งสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ   โดยเลือกลงทุนในโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย  Net Zero  เน้นการลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ  และปัจจัยเรื่องความเข้มข้นของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาพิจารณาในการลงทุน

 

P: Production and Planet in Balance   การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต บริษัทจะเดินหน้าโครงการการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำไปกักเก็บ ( Carbon Capture and Storage )  โดยนำไปกักเก็บยังชั้นใต้ดิน ในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทในอ่าวไทย และประเทศมาเลเซีย  ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก นับเป็นการทำโครงการลักษณะนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้บริษัทจะศึกษาโอกาสนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ Carbon Capture and Utilization  โดยเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า  หรือวัสดุเพื่ออนาคต

การมุ่งสู่ Net Zero Routine Flare  สำหรับโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้น  โดยการนำก๊าซที่จะเผาทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ นอกจากนี้บริษัท จะมุ่งสร้างสมดุลด้วยการดำเนินการโครงการปลูกป่า  ทั้งป่าบก และป่าชายเลน  เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก  โดยมีเป้าหมายในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกสะสมกว่า 2 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2050 ด้วยแผนการดำเนินงานทั้งหมดนี้จะทำให้บริษัทมุ่งสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ในปี 2050

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition)ธุรกิจหลักของ ปตท.สผ. ยังคงมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ควบคู่ไปกับการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก โดย ปตท. สผ. ยังคงรักษาแนวทางในกลุ่ม Cautious Diversified Player คือกลุ่มบริษัทที่ยังดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นธุรกิจหลัก มีความสามารถในการปรับตัว หรือความสามารถในการรักษาระดับของต้นทุนให้ต่ำ ประกอบกับสามารถในการหาตลาดเพื่อขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในระยะยาว ตลอดจนความสามารถดำเนินธุรกิจโดยที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ตามเป้าและดำเนินการตามเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์โดยที่มีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยีช่วยลดคาร์บอนมาใช้งาน เช่นการทำ CCS เป็นต้น  รวมถึงเริ่มมีการกระจายการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดจากธุรกิจหลัก 

 

หากจะกล่าวถึงการลงทุนของ ปตท.สผ. ในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน Energy Transition ก็จะพอยกตัวอย่างที่สำคัญ 2-3 ธุรกิจ

1. ธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ จากเดิมที่ ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพียงอย่างเดียว  ในปัจจุบัน ปตท.สผ. เริ่มมีการกระจายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยลง  ธุรกิจหนึ่งในที่นี่ คือ ธุรกิจ AI and Robotics ซึ่ง ปตท.สผ. ได้จัดตั้งบริษัท AI and Robotics Ventures หรือ บริษัท ARV  จัดตั้งประมาณ 3 ปีที่แล้ว   ขณะนี้มุ่งเน้นการขยายธุรกิจหลักใน 4 ด้าน ได้แก่ หุ่นยนต์สำรวจ ตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์ใต้น้ำ (Subsea) อากาศยานไร้คนขับ (Drone) การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และ ด้านสุขภาพ (Healthcare)

2. ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัทฯ กำลังศึกษาโอกาสการลงทุนที่เหมาะสม

3. ธุรกิจเทคโนโลยีดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน (CCUS) และธุรกิจการให้บริการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์คาร์บอน โดยนอกจากโครงการการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำไปกักเก็บในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทในอ่าวไทย และประเทศมาเลเซียแล้ว เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง กับบริษัท INPEX และJGC ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาโอกาสสำหรับโครงการ CCS ในประเทศไทย โดยเป็นการศึกษาทั้งในด้านโครงสร้างทางธรณีวิทยา ด้านเทคโนโลยีในการดักจับ ขนส่ง และกักเก็บ CO2 รวมไปถึงนโยบายของภาครัฐที่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น การศึกษาครอบคลุมถึงพื้นที่เป้าหมายและรูปแบบการพัฒนา และประเด็นกฎหมายและระเบียบต่างๆ   ซึ่งธุรกิจนี้จะช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  รวมถึงยังเป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศในการเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการคาร์บอนให้กับภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย

4. ธุรกิจพลังงานในอนาคตอื่น ๆ  เช่น  ไฮโดรเจน  ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดที่สำคัญในอนาคต  ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว

 

ส่วนภาพธุรกิจของ ปตท.สผ. ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น ก๊าซธรรมชาติ จะยังคงเป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเมื่อพิจารณาโดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานและต้นทุนทางพลังงานของประเทศ ตอบโจทย์การนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้นั้น ทำให้ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า  ธุรกิจหลักของ ปตท.สผ. ยังคงดำเนินธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเน้นการลงทุนในก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก   ควบคู่ไปกับการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอนมาช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเน้นโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนมากขึ้นในโครงการที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ ก่อนในลำดับแรก