จากกรณีที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.เชิญชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ทุกสิทธิรักษา ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ! ถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง
หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี)
เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน
ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
ไข้หวัดใหญ่
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) ในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีไข้ ไอ น้ำมูก คัดจมูก จาม อาจมีอาการปวดเมื่อตามตัว อ่อนเพลียคล้ายกับไข้หวัด แต่อาการจะรุนแรงกว่า นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดลมและปอดอักเสบ นอกจากนั้นยังทำให้โรคประจำตัวมีอาการกำเริบจากการติดเชื้อ เช่น โรคหัวใจ, เบาหวาน , โรคเกี่ยวกับตับและไต ซึ่งมีการระบาดเป็นช่วงๆ ในหน้าฝนและหน้าหนาว เป็นเชื้อที่มีโอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้
เพราะทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การแนะนำวิธี ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด ได้แก่
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์
โดยชนิด 4 สายพันธุ์สามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B ได้มากกว่า กล่าวคือครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ทั้งตระกูล Victoria และ Yamagata จึงเพิ่มความสามารถในการครอบคลุมเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาด ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ดีขึ้น
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ควรฉีดเป็นประจำทุกปี เนื่องจากวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปี เป็นเชื้อต่างชนิดกันและบางสายพันธุ์คาดการณ์การระบาดได้ยาก ดังนั้นควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้มีภูมิคุ้มกันสูงตลอดเวลาและครอบคลุมสายพันธุ์ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆให้มากที่สุด โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาด
การติดต่อ
โรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทางการหายใจ ไอ จาม
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
อาการโดยทั่วๆ ไปจะคล้ายไข้หวัดจากเชื้ออื่นๆ ทั่วไป แต่มีโอกาสที่จะรุนแรง มีไข้ และเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่า ผู้ป่วยจะมีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว โดยทั่วไปจะมีอาการ 2-3 วัน แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ปอดบวม และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังจากหายอาจมีอาการอ่อนเพลียมึนงงไปอีกหลายสัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่คืออะไร
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดฉีด ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยผ่านกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธภาพสูงในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ฉีดวัคซีนแล้วยังอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้แต่อาการจะน้อยลง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ป้องกันไข้หวัดทั่วไปที่เกิดจากเชื้ออื่นๆ
ควรฉีควัคซีนเมื่อไหร่
วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และ ก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาด
“วัคซีน” ต้องฉีดซ้ำหรือไม่
วัคซีนนี้ต้องฉีดซ้ำทุก 1 ปี ถ้าต้องการป้องกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ที่รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นปีแรกควรได้รับ 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน
สังเกตอาการข้างเคียง
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ อาจจะมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ปวดเมื่อย มักจะเริ่มไม่นานหลังฉีด อาการดังกล่าว ควรหายภายใน 1-2 วันการแพ้ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตมีน้อยมาก ถ้าหากเกิดขึ้นจะปรากฎภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมงหลังฉีด โดยอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ
การดูแลรักษาอาการข้างเคียง
หากปวด บวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบด้วยผ้าเย็น หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม หากมีอาการรุนแรง หรือเป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันทีและแจ้งอาการให้ทราบโดยละเอียด
ใครไม่ควรฉีดวัคซีนหรือควรเลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
คนที่มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่อย่างรุนแรง เพราะ วัคซีนผลิตในไข่ไก่
ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
หากมีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือโรคประจำตัว มีอาการกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้
6 วิธีป้องกันโรคยอดฮิต
ดื่มน้ำอุ่น
ล้างมือบ่อยๆ
กินผักผลไม้
ป้องกันตัวเองโดยการใช้ผ้าปิดจมูก
นอนหลับพักผ่อนให้พอ
ออกกำลังกาย 30 นาที/วัน.
ที่มา:โรงพยาบาลธนบุรี