การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจนำเสนอให้กับที่ประชุมเห็นชอบ นั่นคือ ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะนำมาใช้ในปี 2566 – 2570 ภายใต้แผนนี้กำหนดเป้าหมายไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะรายได้ต่อหัวคนไทยต้องขยับไปเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี หรือประมาณ 300,000 บาท
จากการพิจารณาตัวเลขรายได้ต่อหัวคนไทยในปัจจุบันพบว่า ยังคงมีอัตราที่ค่อนข้างต่ำ โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบข้อมูลย้อนหลังในแต่ละปี มีรายละเอียด ดังนี้
- ปี 2562 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 243,705 บาทต่อคนต่อปี
- ปี 2563 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 224,962 บาทต่อคนต่อปี
- ปี 2564 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ประมาณ 227,000 บาทต่อคนต่อปี (ข้อมูลล่าสุดรายงานครม. 3 พ.ค.2565)
- ปี 2565 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 244,838 บาทต่อคนต่อปี (ประมาณการ)
อย่างไรก็ตามในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.ครั้งนี้ ก็ถือว่ามีความท้าทายไม่น้อย หากจะผลักดันให้รายได้ต่อหัวคนไทยปรับขึ้นไปได้ถึงเป้าหมาย โดยตามแผนฉบับดังกล่าว ได้กำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ ดังนี้
- รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300,000 บาท โดยปี 2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 227,000 บาท
- ดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209 โดยปี 2563 อยู่ที่ 0.6501
- ความแตกต่างของความเป็นอยู่หรือรายจ่าย ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% และต่ำสุด 40% มีค่าต่ำกว่า 5 เท่า โดยปี 2562 มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า
- ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปี 2561 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลดลง 16%
- ดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมีค่าไม่ต่ำกว่า 100
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม.ว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ถือเป็นแผนระดับที่ 2 ตามแผนกำหนดให้เป็นกลไกที่สำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ประเทศควรมุ่งเน้นในระยะ 5 ปีถัดไปคือปี 2566 – 2570
เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ มีสาระสำคัญผ่านหลักการและแนวคิด 4 ประการคือ
- หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- การสร้างความสามารถในการ ล้มแล้ว ลุกไว
- เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
- การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
ขณะที่เป้าหมายหลักของการพัฒนามี 5 ประการ มีดังนี้
- การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
- การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่
- การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม
- การเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน
- การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่
สำหรับในแนวทางการผลักดันให้การขับเคลื่อนแผนเป็นไปตามเป้าหมาย สศช. กำหนดหมุดหมาย หรือแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ไว้ทั้งหมด 13 หมุดหมาย จำแนกออกเป็น 4 มิติ ดังนี้
1.มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย จำนวน 6 หมุดหมาย ได้แก่
- ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
- ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน
- ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
- ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
- ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
- ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน
2.มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมาย ได้แก่
- ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้
- ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน และไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง
- คนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
3.มิติความยั่งยืน ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หมุดหมาย ได้แก่
- ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
- ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4.มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมาย ได้แก่
- ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต
- ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หลังจาก ครม. เห็นชอบร่างแผนพัฒนาฯ แล้ว ได้มอบหมายให้ สศช.นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ ต่อรัฐสภาเพื่อทราบ ก่อนกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ต่อไป