"ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง" 1.19 ล้านตัน ปลุกเศรษฐกิจผลไม้ภาคตะวันออก

02 พ.ค. 2565 | 11:53 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2565 | 19:04 น.
570

"สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี" เผลย ไม้ผลภาคตะวันออก 4 ชนิด "ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง" ปีนี้ ผลผลิตรวม 1.19 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 32% ออกตลาดชุก พฤษภาคม นี้

นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยถึงผลสรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2565 (ข้อมูล ณ 11 เมษายน 2565)

 

โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ ภาคตะวันออก สรุปตัวเลขเอกภาพปริมาณผลผลิตของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด)

 

พบว่า ผลผลิตรวมทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,189,522 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 903,865 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32)

นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)

เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ส่งผลให้เอื้อต่อการออกดอกและติดผล แม้จะมีภัยธรรมชาติจากลมพายุช่วงปลายปี 2564 และเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2565 ที่ทำให้ดอกและลูกร่วงเสียหาย

 

แต่ในภาพรวมปริมาณผลผลิตยังคงมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนกันยายน 2565 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 (คิดเป็นร้อยละ 51 ของผลผลิตทั้งหมด)

 

เมื่อพิจารณาปริมาณผลผลิตรายชนิด พบว่า ทุเรียน มังคุด เงาะ ผลผลิตเพิ่มขึ้น

 

โดยมังคุด เพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 108 รองลงมา ทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และเงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้มีความเหมาะสมต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผลมากกว่าปีที่ผ่านมาประกอบกับอายุต้นที่เพิ่มขึ้นและสภาพความพร้อมของต้น

 

ในขณะที่ ลองกอง ผลผลิตลดลงร้อยละ 6 เนื่องจากปัญหาราคาตกต่ำในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา และโรคระบาด Covid-19 ส่งผลให้ตลาดปลายทางประเทศเวียดนามมียอดรับซื้อค่อนข้างน้อย การดูแลเอาใจใส่จึงน้อยกว่าพืชอื่น

\"ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง\" 1.19 ล้านตัน ปลุกเศรษฐกิจผลไม้ภาคตะวันออก

ด้านผลผลิตต่อไร่ ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้เลี้ยงต้น ดอกและผลผลิต ช่วงอายุต้นให้ผลผลิตสูง เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลรักษามากขึ้น

 

โดยมังคุดมีปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 115 เนื่องจากการไม่ติดผลในปี ที่ผ่านมาทำให้ได้พักต้นสะสมอาหาร จึงออกดอกและติดผลเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

 

รองลงมาทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 และลองกองเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 

 

สถานการณ์การผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ขณะนี้ ทุเรียน ออกดอกแล้วร้อยละ 100 เริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทุเรียนที่เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงแรกคือทุเรียนพันธุ์กระดุมและหมอนทองบางส่วน

\"ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง\" 1.19 ล้านตัน ปลุกเศรษฐกิจผลไม้ภาคตะวันออก

โดยจะทุเรียนทยอยออกสู่ตลาดจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน 2565 มังคุด ออกดอกแล้วร้อยละ 99 เริ่มเก็บเกี่ยวได้เล็กน้อยตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ปีนี้

 

มังคุดออกดอกติดผลเพิ่มขึ้นมากและมีหลายรุ่น ผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน 2565  

 

เงาะ ออกดอกแล้วร้อยละ 99 เริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2565 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงกลางเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน 2565

 

ลองกอง ออกดอกแล้วร้อยละ 70 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะทยอยตั้งช่อออกดอกและเริ่มติดผลแก่บ้างเล็กน้อย ปีนี้ออกดอกล่าช้าเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง จึงมีระยะการติดผลที่ค่อนข้างห่างในแต่ละรุ่น ช่อดอกยาวสมบูรณ์ได้น้ำหนักดี ทำให้ได้ผลผลิตลูกโต จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนกันยายน 2565 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2565

\"ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง\" 1.19 ล้านตัน ปลุกเศรษฐกิจผลไม้ภาคตะวันออก

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ในปี 2565 ทั้ง 3 จังหวัด ได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนไว้ 4 พันธุ์ ดังนี้

 

พันธุ์กระดุม เก็บเกี่ยวได้วันที่ 20 มีนาคม 2565 พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี เก็บเกี่ยวได้วันที่ 10 เมษายน 2565 พันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยวได้วันที่ 25 เมษายน 2565

 

หากจะเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันกำหนด เกษตรกรและคนรับจ้างตัดทุเรียนต้องแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ โดยนำตัวอย่างผลผลิตมาตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนอย่างน้อย 2 วันก่อนเก็บเกี่ยว หรือล้งส่งออกต้องแจ้งด่านตรวจพืชจันทบุรี หรือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) จังหวัดจันทบุรี เพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก

 

ซึ่งกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้กำหนดค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน สำหรับพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง

\"ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง\" 1.19 ล้านตัน ปลุกเศรษฐกิจผลไม้ภาคตะวันออก

หากต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่งผู้ใดจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ เข้าข่ายความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 และความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47

 

นอกจากนี้ เน้นการควบคุมคุณภาพสินค้าตามมาตรฐาน GAP-Plus การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม การป้องกันโรค Covid-19 ในระดับสวนเกษตรกร และมาตรฐาน GMP-Plus การปฏิบัติในโรงคัดบรรจุที่ดีของล้งส่งออกให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความมั่นใจ เพื่อรองรับการตรวจสอบตามนโยบาย Zero Covid ของประเทศจีนอย่างเข้มงวดในสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ

 

สำหรับแนวทางการกระจายผลผลิตในประเทศ มีทั้งโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้เพื่อยกระดับราคาไม่ให้ตกต่ำ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมหารือแนวทางการยกระดับผลผลิตเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ และบริษัทไปรษณีย์ไทย เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายผลผลิตภายในประเทศ ช่วยส่งเสริมพัฒนาและเชื่อมโยงการตลาดให้แก่เกษตรกร

 

อีกทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะช่วยกระจายผลผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้กับผู้บริโภคโดยตรง และโครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูปและผลิตภัณฑ์อื่นๆ

 

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) จังหวัดระยอง ได้นำข้อมูลเอกภาพนี้ไปบริหารจัดการในการจัดตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ทั้งปริมาณการออกสู่ตลาดและราคาขายรายวัน โดยเริ่มรายงานตั้งแต่ 18 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 โทร 0 3835 2435 หรืออีเมล [email protected]