"ทุเรียนโอโซน" จังหวัดชัยภูมิ ปลูกบนภูเขาสูง เปิดจอง พ.ค.นี้

02 พ.ค. 2565 | 11:28 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2565 | 18:47 น.
501

ชัยภูมิ โชว์ ‘กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซน’ ปลูกบนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 800 กว่าเมตร สร้างกำไรให้กลุ่มปีละ223 ล้านบาท เตรียมเปิดจอง พ.ค.นี้ การันตี หวานละมุน กรอบอร่อย กลิ่นเบากว่าทุเรียนพันธุ์อื่น เนื้อละเอียดไม่มีเส้นใย

นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซนตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ

 

โดยในส่วน จังหวัดชัยภูมิ สศท.5 มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูง และคุ้มค่า สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มการผลิต และให้เกษตรกรเป็นผู้บริหารจัดการ แบบครบวงจรทั้งด้านการผลิต แปรรูปและการตลาด

 

รวมถึงสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่

นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

โดยในปี 2562 จังหวัดชัยภูมิร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเทพสถิต ดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซนตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ

 

เน้นการรวมกลุ่มเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรกรส่วนใหญ่ได้มาตรฐาน GAP แล้ว ซึ่งในปี 2565 อยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับรองมาตรฐาน GAP ในนามเกษตรแปลงใหญ่ต่อไป

 

สศท.5 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซน พบว่า ปี 2564 มีเนื้อที่ปลูกทั้งหมด 1,063 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 655 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิก 51 ราย โดยมี นายสมพงษ์ ดีเดิม เป็นประธานแปลงใหญ่

\"ทุเรียนโอโซน\" จังหวัดชัยภูมิ ปลูกบนภูเขาสูง เปิดจอง พ.ค.นี้

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนโอโซนของกลุ่มแปลงใหญ่มีความเหมาะสม เนื่องจากปลูกบนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 800 กว่าเมตร ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์เย็นสบายตลอดทั้งปี

 

ลักษณะพื้นดินภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีรสชาติเฉพาะตัว หวานละมุน กรอบอร่อย กลิ่นเบากว่าทุเรียนพันธุ์อื่น เนื้อละเอียดไม่มีเส้นใย จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาดซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ทุเรียนหมอนทองเนื่องจากเป็นพันธุ์ยอดนิยมที่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศชื่นชอบ

 

ด้านต้นทุนการผลิตทุเรียนโอโซนของกลุ่มแปลงใหญ่เฉลี่ย27,196บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 6 และเก็บเกี่ยวได้ระยะยาว) เกษตรกรนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน (เดือนเมษายน – พฤษภาคม ของทุกปี)

 

เริ่มติดดอกช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์  เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ผลผลิตเฉลี่ย2,460 กิโลกรัม/ไร่/ปีหรือคิดเป็นผลผลิตรวมของทั้งกลุ่มอยู่ที่ 1,611 ตัน/ปี

ทุเรียนโอโซน จังหวัดชัยภูมิ

ราคาที่เกษตรขายทุเรียนโอโซนได้ในรอบปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่150 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทนเฉลี่ย 369,000 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 341,804 บาท/ไร่

 

หากคิดเป็นผลตอบแทนทั้งหมดของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซนจะได้กำไรปีละ 223 ล้านบาท

 

โดยการจำหน่ายผลผลิตจะแบ่งเป็น2 ส่วนคือ ร้อยละ 70 ขายที่หน้าสวนโดยตรงและร้อยละ 30 จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ อาทิ Face book และLine ของเกษตรกรเอง

 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเทพสถิตได้ส่งเสริมให้กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสาน (ซุปเปอร์ฟาร์ม)

 

โดยจัดให้มีการอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ยั่งยืน มีกิจกรรมเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมสวนทุเรียน สินค้าของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเครือข่าย

 

ซึ่งในส่วนของการบริหารจัดการทุเรียนของกลุ่มแปลงใหญ่ ทางกลุ่มมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดทุเรียนยังเปิดกว้าง และผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

\"ทุเรียนโอโซน\" จังหวัดชัยภูมิ ปลูกบนภูเขาสูง เปิดจอง พ.ค.นี้

สำหรับปีนี้ ลูกค้าสามารถสั่งจองผลผลิตได้แต่ตั้งเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มติดผล หรือลูกค้าท่านใดอยากมาเลือกซื้อผลผลิตด้วยตนเองในช่วงที่ผลผลิตออกเต็มที่แล้ว สามารถซื้อได้ที่หน้าสวนของเกษตรกรได้ช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย เช่น โทรสั่งซื้อหรือสั่งออนไลน์ซึ่งมีบริการจัดส่งจากสวนส่งตรงถึงหน้าบ้าน

 

"หากท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตทุเรียนโอโซนของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนโอโซน สามารถสอบถามเพิ่มเดิมได้ที่ นายสมพงษ์ ดีเดิม ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 9 ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โทร 08 1723 3075 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 นครราชสีมา โทร 0 4446 5120 หรืออีเมล [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย