ต้นทุนหมูแพงจาก 4 ปัจจัย รัฐแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่ได้ ควรปล่อยตามกลไกตลาด

29 เม.ย. 2565 | 19:58 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2565 | 03:19 น.
2.6 k

ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เขียนบทความเรื่อง ต้นทุนหมูแพงเพราะเหตุ 4 เด้ง ขอผู้บริโภคโปรดเข้าใจ ความว่า

 

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 คณะอนุกรรมการต้นทุน ในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์(Pig Board) รายงานต้นทุนการผลิตสุกรขุนอยู่ที่ 98.81 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) นับว่าเป็นต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่สูงเป็นประวัติการณ์เรียกได้ว่าฟาร์มต้องกุมขมับ เพราะราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มมีชีวิตตามประกาศของสมาคมฯ คือ 96-98 บาทต่อ กก. ซื้อขายจริงในบางพื้นที่ทะลุ 100 บาทต่อ กก.เป็นที่เรียบร้อย

 

ต้นทุนหมูแพงจาก 4 ปัจจัย รัฐแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่ได้ ควรปล่อยตามกลไกตลาด

คำถามคือที่มาของตัวเลขต้นทุนที่สูงปรี๊ดขณะนี้มาจากอะไรบ้าง  

สาเหตุที่ตัวเลขต้นทุนการผลิตสุกรสูงในขณะนี้เกิดจากสถานการณ์ 4 เด้ง

 

เด้งแรก ผลพวงของการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรหรือ ASF ปริมาณแม่พันธุ์ยังไม่เพียงพอ ทำให้อัตรากำลังการผลิตสุกรน้อยกว่าปีก่อน ผลผลิตสุกรเข้าสู่ตลาดลดลงราคาย่อมต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่มากกว่าอัตราการผลิตได้

 

เด้งที่ 2 ผลต่อเนื่องจากเด้งแรก คือ ต้นทุนลูกสุกร เนื้อหมูที่วางขายอยู่ในตลาดช่วงนี้ต้องย้อนไปเดือนมกราคม 2565 หากเราจำกันได้ เป็นช่วงที่ราคาเนื้อสุกรแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ราคาลูกสุกรก็แพงที่สุดเช่นกัน โดยราคาเฉลี่ยลูกสุกรเดือนมกราคม 3,650 บาทต่อตัว ทำให้สัดส่วนต้นทุนลูกสุกรสูงถึง 40.65% ของต้นทุนการผลิตสุกรขุน

 

เด้งที่ 3 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสองประเทศนี้เป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญของโลก ผลพวงจากสถานการณ์นี้ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อนเกิดสงครามวัตถุดิบก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว โดยตั้งแต่ต้นปี ในเวลาเพียง 3 เดือน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้น 17.1% กากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 13.6% ข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 8.3% ปลาป่นเพิ่มขึ้น 19.3%  (อันที่จริงปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยซ้ำ) ถึงกับมีการแซวกันว่า “ราคาวัตถุดิบขึ้นโหดเหมือนโกรธคนเลี้ยง”

 

ในการขุนสุกรให้ได้น้ำหนักประมาณ 100 กก. ต้องใช้อาหารสุกรประมาณ 248กก. คิดเป็นต้นทุนค่าอาหารไม่น้อยกว่า 4,000 บาท หรือประมาณ 45.09% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งผู้เลี้ยงจำนวนไม่น้อยขยายเวลาเลี้ยงนานขึ้นจาก 100 กก. เป็น 110 – 120 กก. แน่นนอนต้นทุนอาหารก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

เด้งที่ 4 สภาพอากาศที่ร้อน สุกรจะกินอาหารน้อยกว่าปกติ ทำให้โตช้า ฟาร์มต้องเลี้ยงนานขึ้น ทำให้ต้นทุนอาหารในช่วงหน้าร้อนสูงกว่าปกติ 

 

หากถามว่าเด้งไหนที่รัฐพอจะบรรเทาปัญหาได้คือ เด้งที่ 2 การแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบ โดยทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้เสนอแนวทางแก้ไข 3 ข้อไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ได้แก่

 

1.ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2%

2.ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1

3.เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณขาดแคลนชั่วคราว ในปี 2565

 

ต้นทุนหมูแพงจาก 4 ปัจจัย รัฐแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่ได้ ควรปล่อยตามกลไกตลาด

 

ข้อเสนอทั้ง 3 ได้รับการตอบสนองเพียงส่วนเดียว ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน หรือเป็นที่ยอมรับของภาคปศุสัตว์และอาหารสัตว์ กล่าวคือ การผ่อนปรนให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตามกรอบ WTO  ไม่เกิน 0.38 ล้านตัน ในช่วงเมษายน – กรกฎาคม 2565 ซึ่งขณะนี้กำลังจะหมดเดือนเมษายน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามการอนุญาตนำเข้าข้าวโพดอาจมีส่วนช่วยให้ผู้กักตุนข้าวโพดขณะนี้ยอมคลายผลผลิตที่กักตุนไว้เก็งกำไรได้

 

ข้อเท็จจริงอีกข้อคือ ราคาข้าวสาลีในขณะนี้สูงเทียบเท่าข้าวโพดแล้ว จึงไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการนำเข้าข้าวสาลีมาเป็นวัตถุดิบทดแทนตามมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน ส่วนมาตรการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ซึ่งจัดการได้ง่ายที่สุด และสามารถยกเลิกได้ทันที แต่มาตรการนี้ก็ถูกยื้อไว้นานที่สุด โดยที่ยังไม่มีการตอบสนองใดๆ  

 

ต้นทุนหมูแพงจาก 4 ปัจจัย รัฐแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่ได้ ควรปล่อยตามกลไกตลาด

 

สำหรับมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ควรต้องผ่อนปรนมากขึ้น หากรัฐไม่ต้องการซ้ำเติมปัญหาให้แก้ยากไปกว่านี้ เนื่องจากรัฐได้กำหนดนโยบายประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ 8.5 บาท/กิโลกรัม และรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศ 19.75 บาทต่อ กก. เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองได้รับการดูแลอยู่แล้ว จึงควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี

 

เนื่องจากสถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนยังคงยืดเยื้อ และกำลังการผลิตของผู้ผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล น่าจะมีปัญหาในปีการผลิตปัจจุบันเนื่องจากต้นทุนน้ำมันและปุ๋ยแพง เหล่านี้จะทำให้ราคาต้นทุนการผลิตสุกรไม่น่าจะลดลงได้  นั่นหมายถึงราคาเนื้อสุกรคงต้องแพงขึ้นอีก นอกจากนี้ รัฐต้องเข้มงวดกวดขันการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนอีกปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวบ่อนทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย ซึ่งจะกระทบไปยังเกษตรกรพืชไร่อีกหลายแสนรายด้วยอย่างแน่นอน

 

ต้นทุนหมูแพงจาก 4 ปัจจัย รัฐแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่ได้ ควรปล่อยตามกลไกตลาด

 

เมื่อรัฐไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาต้นทางเรื่องการจัดการต้นทุนวัตถุดิบได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ มิเช่นนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เหลืออยู่ไม่ถึงแสนราย คงต้องเซย์กู้ดบายถาวรเพราะต้นทุนที่แบกรับกันอยู่ตอนนี้ แบกกันแอ่นจนหลังจะหักแล้ว สำหรับผู้บริโภคคงได้เพียงบริหารจัดการเงินในกระเป๋า ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เพราะการตรึงราคาสุกรหน้าฟาร์มคงไม่สามารถสั่งได้เหมือนในอดีต และในอีกไม่กี่วันนี้ก็จะต้องเผชิญกับการปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด