ตารางเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2565 เช็ครายละเอียดได้ที่นี่

28 เม.ย. 2565 | 11:38 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 18:46 น.
12.5 k

ตรวจสอบตารางการปรับเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2565 เป็นเวลา 6 เดือน เมษายน – กันยายน 2565 เช็ครายละเอียดได้ที่นี่

จากกรณีที่มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 26 เมษายน 2565 มี การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ ชื่อวาระเป็นทางการคือ เพิ่มสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
                   

เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2565 ในอัตราที่แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ถึงกลุ่มผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ


ซึ่งมีหลายท่านสอบถาม ฐานเศรษฐกิจเข้ามาว่า ตารางการเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2565 ตามมติครม.ล่าสุดนั้น เป็นอย่างไร เพิ่มอย่างไรบ้าง

ซึ่งจากข้อมูลจาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) พบว่า ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้

  1. กลุ่มผู้สูงอายุ 60 – 69 ปี ให้ได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน 
  2. กลุ่มผู้สูงอายุ 70 – 79 ปี ให้ได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ จำนวน 150 บาทต่อคนต่อเดือน 
  3. กลุ่มผู้สูงอายุ 80 – 89 ปี ให้ได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน 
  4. กลุ่มผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ จำนวน 250 บาทต่อคนต่อเดือน

ตารางการเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปี 2565 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เมษายน - กันยายน 2565

สาระสำคัญของเรื่องนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รายงานต่อครม.ว่า

 

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย (Ageing Society) มาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) คือ มีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ 

 

อีกทั้งในปี 2576 คาดว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) คือ มีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66,171,440 คน เป็นผู้สูงอายุ จำนวน 11,906,511 คน (คิดเป็นร้อยละ 17.90 ของประชากรทั้งประเทศ)

 

โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 10,896,444 ราย

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

 

โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทางรายได้คิดเป็นร้อยละ 50.7 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และรายได้ของผู้สูงอายุที่มาจากการทำงานมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 22 

 

นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังได้รับเงินจากบุตรหลานน้อยลง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจึงกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุ ดังนั้น เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม และยังเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมและพึ่งพาตนเองได้ต่อไป

 

พม. จึงเสนอมาตรการการเพิ่มสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ (เพิ่มตามช่วงอายุ) เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน - กันยายน 2565 โดยคาดว่าจะต้องจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพจำนวน 10,896,444 คน (ตามจำนวนผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565) เป็นเงินจำนวน 8,348,160,000 บาท 

 

โดยมีรายละเอียด ดังนี้ซึ่งมีหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 4 หน่วยงาน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองการส่งเสริม การสนับสนุนผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561