Soft Power ไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้าน อีกพลังฟื้นประเทศ

27 เม.ย. 2565 | 15:21 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 22:50 น.
1.1 k

ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) : อิทธิพลที่ไม่ได้มาจากการบังคับหรือใช้ความรุนแรง แต่โน้มน้าวผู้อื่นให้คล้อยตามด้วยเครื่องมือที่ไม่ใช่อาวุธ เช่น วัฒนธรรม กีฬา การศึกษาธุรกิจ หรือนโยบายต่างประเทศ เป็นต้น โดยสร้างการเชื่อมโยงผ่านการสื่อสารและความเข้าใจเป็นหนึ่งเดียว

 

หลายประเทศมีการนำพลัง Soft Power มาใช้เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ในเอเชียที่เห็นได้ชัดได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน โดยในส่วนของเกาหลีใต้ได้ใช้ธุรกิจบันเทิงกรุยทางสู่ตลาดโลกซึ่งเป็นแผนของรัฐบาลตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 เป็นเครื่องมือสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้ง KPOP  ซีรีย์เกาหลี ซึ่งนอกจากช่วยสร้างรายได้จากเพลงและภาพยนตร์แล้วยังส่งผลต่อวัฒนธรรม และดึงการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี

 

ส่วนญี่ปุ่นเริ่มส่งออกวัฒนธรรม ป๊อบ (J Pop Culture) ภายใต้นโยบาย Cool Japan มาตั้งแต่ปี 2544 และหลังจากโศกนาฏกรรมสึนามิที่เมืองฟุกุชิมะ เมื่อปี 2544 ก็หันมาใช้การท่องเที่ยวและกีฬามาเป็นไม้เด็ด มีการยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวเพื่อดึงดูด การท่องเที่ยว เสริมความแกร่ง Soft Power เต็มสูบ รวมถึงการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2020 ด้วยงบลงทุนราว 5.14 แสนล้านบาท โดยนักวิเคราะห์จากญี่ปุ่นประเมินว่า โอลิมปิกเกมส์สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะสั้นได้ราว 5.07 แสนล้านบาท แต่สิ่งที่คาดหวังมากกว่านั้นคือ เป้าหมายระยะยาวในการซื้อใจชาวต่างชาติที่ได้รับชมการถ่ายทอดสดทั่วโลก โดยญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายสูงลิบว่าจะต้องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 60 ล้านคนภายในปี 2030

 

 

สำหรับประเทศไทยจากกระแส LISA BLACKPINK และมิลลิ (MILLI) แร็ปเปอร์สาวไทยที่ไปขึ้นเวทีคอนเสิร์ตระดับโลก Coachella 2022 ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และกินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์บนเวที สร้างกระแสฮือฮาไปทั่วโลก ทำให้กระแส Soft Power ไทยกลับมาอีกครั้ง ส่งผลดีต่อการเพิ่มการบริโภคข้าวเหนียวมะม่วงในประเทศ รวมถึงการส่งออกข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวสารเหนียว และมะม่วงของไทยที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ (ปี 2564 ไทยส่งออกข้าวเหนียว 3,109 ล้านบาท มะม่วงสด 4,440 ล้านบาท และสินค้าที่เกี่ยวกับมะม่วงทั้งหมด 14,242 ล้านบาท)

 

พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา

 

พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข้าวเหนียวมะม่วงหลังจาก “มิลลิ-ดนุภา  คณาธีรกุล” แร็ปเปอร์สาวชื่อดังที่ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา โดยก่อนจบการแสดงได้กินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ว่าจะมี การผลักดันเมนู “ข้าวเหนียวมะม่วง” ขึ้นทะเบียนกับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) เพื่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาหรือไม่ เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการ ซึ่งประเทศ ไทยมีของดี ๆ จำนวนมาก ที่สามารถสร้าง Soft Power ได้เช่น เรื่องอาหารธรรมชาติ สุขภาพ และอื่น ๆ

 

 

สอดคล้องกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ให้ข้อมูลว่า อัตลักษณ์ความเป็นไทยมีศักยภาพไม่ต่างกับอีกหลายประเทศจากเรามีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเป็นทรัพยากรสำคัญของ Soft Power ที่ควรนำเสนอความเป็นไทยไปสู่สายตาชาวโลกผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง ผลิตภัณฑ์งานฝีมือ และเทศกาลต่าง ๆ ของแต่ละภาคในประเทศ เป็นต้น

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

ขณะที่วัฒนธรรมไทยที่มีศักยภาพโดดเด่น สามารถเป็น Soft Power สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ ผ้าไทย แฟชั่น มวยไทย ตลอดจนเทศกาล ประเพณีต่าง ๆ ตัวอย่างอาหารไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในครัวของโลก มีเมนูที่ติด 50 อันดับอาหารโลกปี 2021 ของ CNN โดย แกงมัสมั่น ติดอันดับ 1 ต้มยำกุ้งติดอันดับ 8 ส้มตำติดอันดับ 46

 

นอกจากนี้มีอาหารไทยที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย ที่สามารถผลักดันให้เป็น Soft Power เช่น ผัดไทย แกงเขียวหวาน ต้มข่าไก่ พะแนงหมูหมูสะเต๊ะ ไก่ผัดเม็ดมะม่วง ก๋วยเตี๋ยวเรือ ปอเปี๊ยะทอด และของหวานอีก 2 อย่างได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วง และทับทิมกรอบ ที่ส่วนใหญ่เป็น อาหารภาคกลาง แต่อาจส่งเสริมให้อาหารภาคอื่นเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากมีเอกลักษณ์ของอาหารที่ต่างกันเช่น อาหารภาคเหนือ ได้แก่ ข้าวซอยนํ้าเงี้ยว นํ้าพริกหนุ่ม อาหารภาคใต้ เช่น แกงใต้ แกงส้มแกงเหลือง คั่วกลิ้ง ข้าวยำ เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันภาพยนตร์และสื่อบันเทิงไทย ซึ่งเป็น Soft Power ด้านสื่อที่สามารถผลักดันการส่งออกไปสู่เวทีโลกได้เพิ่ม ตัวอย่าง “ซีรีย์วาย” หรือละครที่มีเนื้อหา “ชายรักชาย” ที่ศิลปินนักแสดงคู่จิ้นคนโปรดถูกจับคู่ก็สามารถดึงดูดคนดูได้เช่นกัน ซึ่งจากข้อมูล ซีรีย์วายจากไทยฮิตติดลมบนเป็นอันดับ 1 ในเอเชียสร้างเม็ดเงินสะพัดได้กว่า 1,000 ล้านบาทประเทศที่นิยมคอนเทนท์ได้แก่ ไต้หวันอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศแถบละตินอเมริกา แต่ชาติที่นิยมซื้อคอนเทนท์ไปออกอากาศเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน และเวียดนาม

 

Soft Power ไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้าน อีกพลังฟื้นประเทศ

 

รวมถึงการถ่ายทำภาพยนตร์และสารคดีก็เป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้อีกมหาศาล โดยปี 2564 มีภาพยนตร์ต่างชาติมาถ่ายทำในไทย 94 เรื่อง ทำเงินเข้าประเทศได้ถึง 4,015 ล้านบาท และภาพรวม 5 ปีที่ผ่านมาไทยมีรายได้จากกองถ่ายภาพยนตร์ถึง 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ Soft Power ไทยก่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท และมีผู้ประกอบการอยู่ในอุตสาหกรรมราว 7.9 หมื่นราย แบ่งเป็นขนาดเล็ก 96.8% ขนาดกลาง 2.6% และขนาดใหญ่ 0.6%

 

โดยข้อมูลจากงานเสวนาหน้าจอโชว์ ONLINE VARIETY “SOFT POWER TO GREAT HERO # 1 ขายของดีของไทยยังไงให้โลกสนใจ” และข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งรวบรวมโดยรายการ BUSINESS WATCH ระบุ Soft Power ไทยที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากสุด 5 อันดับแรกได้แก่ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, อาหารไทย, โฆษณา, แฟชั่น และออกแบบ (กราฟิกประกอบ)

 

ล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโชว์ผลงาน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 ดัน Soft Power ส่งเสริมผู้ประกอบการ 1,878 ราย สร้างมูลค่าการค้า 3,905 ล้านบาท ผ่านการผลักดันการส่งออกสินค้าอาหาร ผลไม้ ดิจิทัลคอนเทนท์สุขภาพและความงาม และสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย

 

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีของดีอีกมากมายที่สามารถผลักดันให้เป็น Soft Power เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนต้องร่วมมือกันในวางแผนอย่างเป็นระบบ มี Goal หรือเป้าหมายที่ชัดเจนและเริ่มลงมือขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3778 วันที่ 28 -30 เมษายน 2565