TCMA บี้ ใช้ปูนเม็ดไฮดรอลิก ลดคาร์บอน 1 ล้านตันปี 66

08 เม.ย. 2565 | 16:38 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2565 | 23:58 น.

TCMA จับมือ 25 พันธมิตร กระตุ้นใช้ปูนเม็ด “ไฮดรอลิก” นวัตกรรมใหม่ ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ตั้งเป้าปี 2566 ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน จากปัจจุบันมีการใช้แล้ว 20 ล้านตันต่อปี เล็งถอนผลิตภัณฑ์ปล่อยคาร์บอนสูงออกจากตลาด

 

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯได้ร่วมกับ 25 พันธมิตร เพื่อยกระดับสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยการมุ่งผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 ล้านตัน CO2 ภายในปี 2566 โดยในช่วงสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมามีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว 300,000 ตัน จากแผนที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซภายในสิ้นปี 2565 โดยใช้เวลาเพียง 485 วันหรือ 1 ปี 4 เดือน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งใจกันไว้ 1 ปี และเร็วกว่าเป้าหมายตามแผนที่นำทางของประเทศถึง 9 ปี

 

ทั้งนี้ทางสมาคมฯ จะกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างทุกประเภท เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทาง BCG และนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

 

 

TCMA บี้ ใช้ปูนเม็ดไฮดรอลิก ลดคาร์บอน 1 ล้านตันปี 66

 

สำหรับการขับเคลื่อนมาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยการมุ่งผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จะกระตุ้นให้เกิดการใช้งานในวงกว้างแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิม  เป็นการสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ที่จะมีส่วนสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์โลกเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ

 

ปัจจุบันสัดส่วนการใช้มาตรการทดแทนปูนเม็ดโดยใช้ปูนไฮดรอลิก อยู่ที่ 20 ล้านตัน เมื่อเทียบเท่ากับการตั้งเป้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 ล้านตัน จากเดิมที่มีการใช้ปูนซีเมนต์ธรรมดาอยู่ที่ 35 ล้านตันต่อปี โดยทางสมาคมฯตั้งเป้าที่จะใช้ปูนไฮดรอลิกทดแทนการใช้ปูนแบบเดิมทั้งหมด

 

นายชนะ กล่าวต่อว่า ส่วนราคาปูนแบบเดิมและปูนไฮดรอลิกนั้น มีราคาเท่ากัน เนื่องจากทางผู้ผลิตมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมในปูนไฮดรอลิกไว้บางส่วน ขณะเดียวกันพบว่าปัจจุบันมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าส่งออกที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง ซึ่งจะกระทบกับไทย หากไทยไม่สามารถค้าขายกับต่างประเทศที่มีการเรียกเก็บสินค้าภาษีคาร์บอนได้ ส่งผลให้เงินไหลเข้าประเทศลดลง

 

“เราอย่าไปมองเรื่องต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย แต่เราควรมองสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ได้คือไทยต้องเป็นกรีน อีโคโนมี หรือเป็น BCG สิ่งแรกๆ ทางผู้ผลิตต้องเสียสละในการนำเทคโนโลยีเข้ามา เพราะความยากคือการใส่ทรัพยากรในการผลิตเข้าไป”

 

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  กล่าวว่า  สำหรับการใช้ปูนซีเมนต์ธรรมดาอยู่ที่ 35 ล้านตันต่อปีนั้น หากมีการใช้ปูนไฮดรอลิก จะช่วยลดการใช้เม็ดปูนแบบเดิมอยู่ที่ 40 กิโลกรัมต่อตัน และช่วยลดการเผาไหม้ในการผลิตคาร์บอน ทั้งนี้ในภาคอุตสาหกรรมของสมาคมฯจะเป็นต้นแบบให้ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ สนใจดำเนินการตาม

 

นาวาอากาศเอก ศ.ดร.ธนากรพีระพันธุ์ นายกสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ด้านประสิทธิภาพระหว่างปูนแบบเดิมและปูนไฮดรอลิกไม่แตกต่างกัน เพียงแต่เป็นการใช้ประโยชน์จากปริมาณเม็ดปูนลดลง ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทดสอบคุณสมบัติพบว่ามีคุณสมบัติเทียบเท่ากัน และไม่ได้มีนัยสำคัญที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันในต่างประเทศมีการใช้ปูนไฮดรอลิกกว่า 10 ปี เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซฯ ถือเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังมีนวัตกรรมที่ไม่นำก๊าซคาร์บอนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

 

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธ์พานิช เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ สามารถนำมาเป็นต้นแบบขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้สำเร็จตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 อย่างกรณีทีการใช้มาตรการทดแทนปูนเม็ดจะเป็นส่วนสำคัญในการทำงานของภาครัฐที่ต้องประสานงานกับภาคเอกชน เพื่อสร้างโซลูชั่นให้เอกชนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตและผู้บริโภคที่สร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะมีการเพิ่มเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก 40% ภายในปี 2573”

 

“เชื่อว่าทุกสิ่งต้องมีการลงทุนและมีต้นทุนที่ประชาชนต้องแบกรับสิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการคือการหาโซลูชั่นในลักษณะนี้ที่ภาคเอกชนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการทำธุรกิจที่ยั่งยืนและไม่กระทบกับภาระประชาชนที่จะร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศ”

 

ขณะเดียวกันทางสมาคมฯ ต้องทำหนังสือกำหนดรายละเอียดตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมแนะนำ โดยนำผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงนำออกจากตลาด รวมทั้งการนำเทคโนโลยีไปพัฒนา เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ต่อไป

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3772  วันที่ 7 – 9 เมษายน 2565