TCMA กระตุ้นใช้ "ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก" ลดก๊าซเรือนกระจกทะลุเป้าล้านตัน CO2

30 มี.ค. 2565 | 08:44 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2565 | 15:50 น.

TCMA ประกาศ​ ‘MISSION 2023’ ผนึก 25 พันธมิตร ขับเคลื่อนพันธกิจลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน CO2 กระตุ้นการใช้ "ปูนซีนเมนต์ไฮดรอลิก" ทดแทนการใช้ปูนเม็ด ลำปัญหาสิ่งแวดล้อม เดินหน้าสู่เป้าหมายภายใน 2 ปี

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า สมาคมฯ และพันธมิตร 25 หน่วยงานรวมเดินหน้าสู่ ‘MISSION 2023’ ภารกิจยกระดับสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยการมุ่งผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 ล้านตัน CO2 ภายในปี 2566 หรือภายใน 2 ปี พร้อมกับประกาศความสำเร็จในปีที่ผ่านมา จากความมุ่งมั่นทำงานจนประสบความสำเร็จสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 3 แสนตัน CO2 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ 

 

‘MISSION 2023’ การขับเคลื่อนความสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งด้านการปรับปรุงมาตรฐานด้านการก่อสร้างของหน่วยงาน ด้านการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ด้านการส่งเสริมการใช้งาน ด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจ และด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ตามที่ประกาศในการประชุม COP26 โดยเร่งยกระดับขับเคลื่อนมาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยการมุ่งผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกพร้อมกระตุ้นให้เกิดการใช้งานในวงกว้างแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิม ซึ่งเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ ที่จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายชนะ กล่าว 

 

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การบูรณาการ ความร่วมมือของทั้ง25 หน่วยงาน และการสนับสนุนของ 6 กระทรวงในครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางสำคัญที่สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ Thailand Climate Action Conference (TCAC)  ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเจ้าภาพหลักจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยกระทรวงทรัพยากร-ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานในสังกัด ในฐานะผู้รับผิดชอบของไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมร่วมขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ให้บรรลุเป้าหมาย

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ดังเช่นมาตรการทดแทนปูนเม็ดนี้ที่มีการวิจัยพัฒนาและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมอก. 2594-2556 เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้งานในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

 

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัด เข้ามาร่วมขับเคลื่อน ด้วยการปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้าง ประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่ ‘MISSION 2023’ 

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงได้กำหนดนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้หน่วยงานในสังกัดรับไปดำเนินการ ครอบคลุมการลดความเสี่ยง/ความเสียหายและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเตรียมความพร้อมของชุมชนในการปรับตัว การจัดทำแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการปรับแก้ไขมาตรฐานด้านวิศวกรรมในงานก่อสร้างอาคาร ด้วยมาตรฐานมยผ. 1101 ถึง มยผ. 1106 เป็นต้น ในความร่วมมือ ‘MISSION 2023’ นี้ จึงยินดีส่งเสริมให้หน่วยงานสังกัด และส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้าง ประเภทปูนซีเมนต์ ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในอนาคต 

 

นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับทุกหน่วยงาน ภายใต้แผนการดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรสำหรับมาตรการทดแทนปูนเม็ดนี้ ได้มอบกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักร่วมดำเนินการ และได้เริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ แล้ว 

 

นายวันชัย วราวิทย์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงมายังมิติด้านเศรษฐกิจ โดยการบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ ได้นำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และเผยแพร่ให้ทราบทั่วกัน รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปอ้างอิงในการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย

 

ดร. พิรุณ สัยยะสิทธ์พานิช เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความยินดีที่การบูรณาการความร่วมมือฯ มาตรการทดแทนปูนเม็ด นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ สามารถนำมาเป็นต้นแบบขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้สำเร็จตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดย สผ. ยินดีประสานและสนับสนุนการขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย