TPIPP อัด 5 พันล้าน สต๊อก Carbon Credit 12 ล้านตัน

17 มี.ค. 2565 | 18:51 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2565 | 02:08 น.

TPIPP ทุ่ม 5 พันล้าน ปรับเปลี่ยนหม้อต้มน้ำ รับเชื้อเพลิงขยะ เลิกใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า ในปี 2569 หนุนสะสม Carbon Credit เพิ่มเป็นปริมาณ 12.45 ล้านตันต่อปี พร้อมเดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าขยะต่อเนื่อง ตั้งเป้าปี 2570 กำลังผลิต 582 เมกกะวัตต์ ลุยโซลาร์ฟาร์มพื้นที่โรงงานปูนซีเมนต์


นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวในการสัมมนา Go Green 2022 ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว หัวข้อ Driving Green Business ขับเคลื่อนธุรกิจเขียว จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า บริษัทมีนโยบายสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ไว้ในปี 2593 ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมการประชุมสมัชชาประเทศที่เมืองกลาสโกลว์ (COP26) และได้สัญญาที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในปริมาณ 46 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดคาร์บอนในประเทศไทยกำลังถูกพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน

 

ในการสนับสนุนให้ประเทศบรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว การดำเนินงานของบริษัทในช่วง 4 ปีนี้ (2565-2569) จะใช้เงินลงทุนรวม 5 พันล้านบาท เพื่อนำไปสู่การลดปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ โดยงบลงทุน 3,800 ล้านบาท จะนำใช้ในส่วนของการปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อต้มน้ำ (Boiler) ทุกหม้อที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ผลิตไฟฟ้า กำลังผลิตขนาด 220 เมกะวัตต์ ป้อนไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ ให้เปลี่ยนมาใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงแทน และอีก 1,200 ล้านบาท จะใช้สำหรับลงทุนขยายโรงงานผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิง RDF ในการผลิตไฟฟ้า ที่ได้เริ่มก่อสร้างในปีนี้แล้ว

 

TPIPP อัด 5 พันล้าน สต๊อก Carbon Credit 12 ล้านตัน

 

ทั้งนี้ การปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อต้มน้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปลี่ยนมาใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ในปี 2565 นี้ จะแล้วเสร็จบางส่วน ตั้งเป้าหมายจะนำขยะมาใช้แทนถ่านหินลงได้ราว 50% หรือสามารถลดการใช้ถ่านหินได้ 970 ตันต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมี Net Zero Carbon Emission และมี Carbon Credit ที่จะขายได้เพิ่มเป็น 6.61 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันสะสมอยู่ที่ 5.08 ล้านตัน จากการใช้ขยะผลิตไฟฟ้า และเมื่อถึงปี 2569 โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100% ที่ใช้เชื้อเพลิงขยะเข้ามาทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหินได้ 100% ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมี Net Zero Carbon Emission และมี Carbon Credit ที่จะขายได้ประมาณ 12.45 ล้านตันต่อปี Carbon ที่ลดลงได้ดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อขายออกไป สร้างรายได้ให้กับบริษัท 

 

 “ขยะ 1 ตัน ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า เทียบเท่ากับการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.32 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งถือเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ดีกว่าการนำไปฝังกลบ ที่ทำให้ก่อเกิดก๊าซมีเทน มีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนฯ ถึง 21 เท่า บริษัทใช้ขยะมาเป็นเชื้อเพลิง 8,000-10,000 ตันต่อวัน เท่ากับช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ค่อนข้างมาก”

 

นายภัคพล กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางการลงทุนนั้น TPIPP ยังเดินหน้ามุ่งขยายกำลังการผลิตและลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์ 3-5 ปี ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 582 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2570 จากปัจจุบันมีกำลังผลิต 440 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการลงทุนในโครงการต่างๆ ได้แก่โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยระยะที่ 2 ของเทศบาลนครนครราชสีมา กำลังการผลิตติดตั้ง 12 เมกะวัตต์ ระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา 20 ปี เงินลงทุน 1,830 ล้านบาท โดยคาดว่า จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายได้ในเดือนเมษายน 2566 และโครงการโรงไฟฟ้าขยะองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กำลังการผลิตติดตั้ง 12 เมกะวัตต์ ระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา 20 ปี ใช้เงินลงทุนราว 1,745 ล้านบาท  โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายได้ในเดือนเมษายน 2566

 

รวมทั้งอยู่ระหว่างการติดตามการประมูลโครงการขยะของเทศบาลต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมา รวมทั้งโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ตามแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ของกระทรวงพลังงานที่จะประกาศออกมาในช่วงปี 2566

 

 อีกทั้ง บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ลงทุนโซลาร์ฟาร์ม ที่กำลังพิจารณาว่าจะใช้เทคโนโลยีรูปแบบใด เนื่องจากบริษัทมีพื้นที่หลายหมื่นไร่ ของโรงงานปูนซีเมนต์ สามารถนำมาพัฒนาสร้างรายได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐว่า จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มได้เมื่อใด