GPSC อัดงบ 6 หมื่นล้านลุยพลังงานหมุนเวียน สัดส่วนมากกว่า 50% ปี 73

02 เม.ย. 2565 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2565 | 18:58 น.

GPSC กางแผน 5 ปี อัดงบ 6 หมื่นล้านบาท พร้อมแผนลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 8 กิกะวัตต์ หรือสัดส่วนมากกว่า 50% ในปี 2573 และขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

 

นางศิโรบล บุญถาวร  ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสการเงินองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการทบทวนและปรับปรุงกลยุทธ์องค์กรระยะยาว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะโลก  และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจสู่การเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าชั้นนำ ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล ภายใต้กลยุทธ์ 4S ประกอบด้วย

 

S1-Strengthen and Expand the Core : การสร้างความแข็งแกร่งของระบบโครงข่าย และขยายการให้บริการในธุรกิจหลัก  ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตที่มีเสถียรภาพ

 

S2-Scale-up Green Energy : การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทั้งในและต่างประเทศ

 

S3-S-Curve & Batteries : การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคตที่มุ่งเน้นระบบกักเก็บพลังงาน แบตเตอรี่ เพื่อการต่อยอดธุรกิจเชิงนวัตกรรม

 

และ S4-Shift to Customer-centric Solutions : การให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ผสานการใช้นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ สามารถบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของผู้บริโภคในอนาคต

 

GPSC อัดงบ 6 หมื่นล้านลุยพลังงานหมุนเวียน สัดส่วนมากกว่า 50% ปี 73

 

 

 ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศให้ได้ 8 กิกะวัตต์ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มสัดส่วนมากกว่า 50% จากกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นทั้งหมด

 

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ราว 7,122 เมกะวัตต์ มีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ราว 2,655 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมาย 5-10 ปี ที่บริษัทจะลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% ภายในปี 2568 และลดลง 35% ภายในปี 2573

 

ทั้งนี้การดำเนินงานในช่วง 5 ปี (2565-2569) บริษัทจะใช้เงินลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาท  แบ่งเป็นปี 2565 เงินลงทุนราว 3.1 หมื่นล้านบาท ปี 2566 จะใช้เงินลงทุนราว 8,806 ล้านบาท ปี 2567 ประมาณ 15,457 ล้านบาท ปี 2568 ประมาณ 3,030 ล้านบาท และปี 2569 ประมาณ 2,178 ล้านบาท

 

สำหรับการลงทุนในปี 2565 จะเน้นไปที่โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน (Offshore Wind) ขนาดกำลังผลิต 595 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้น 25% คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นรวมรวม 149 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะดำเนินการโอนหุ้นแล้วเสร็จ ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ รวมถึง โครงการ SPP Replacement  โครงการ ERU โครงการ Solar Private PPA และการลงทุนตามแผนการเติบโตของบริษัท ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 500 เมกะวัตต์

 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการดำเนินการร่วมกับ บริษัท Avaada Energy Private Limited (AEPL) ซึ่งเป็นโครงการ Solar Power Platform ในอินเดีย ณ สิ้นปี 2564 มีกำลังผลิตทั้งหมด 4,608 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วประมาณ 2,205 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2,403 เมกะวัตต์บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในสัดส่วน 41.6% หรือคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 1,917 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ทั้งหมดภายในปี 2566 โดยบริษัทจะสนับสนุนและร่วมพัฒนาโครงการเพื่อให้ AEPL สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตถึง 11,000 เมกะวัตต์ ในปี 2568

 

สำหรับธุรกิจแบตเตอรี่ บริษัทได้มีการกำหนดเป้าหมายระยะยาว โดยร่วมมือกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน “NUOVO PLUS” เพื่อการพัฒนา การขาย การดำเนินการ และการลงทุนในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ของ บริษัท และ ปตท. ในอนาคต รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ และระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

 

โดยการร่วมทุนดังกล่าวจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจแบตเตอรี่และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ในอนาคต และมีเป้าหมายมุ่งสู่กำลังการผลิตเชิงพาณิชย์ 5 - 10 GWh ต่อปี ภายในปี 2573 โดยที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือกับ 9 บริษัทต่อยอดเทคโนโลยีแบตเตอรี่ SemiSolid เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีบริการชาร์จไปแล้ว

 

บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 5 ฝ่าย ประกอบด้วย GPSC, บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย (EXIM BANK) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) และบริษัท นีโอคลีน เอ็นเนอยี่ จำกัด (NEO)

 

ทั้งนี้เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ Solar Orchestra ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุน Solar Rooftop แล้วขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ “โครงการ T-VER” และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยน ซื้อขายได้ โดยตั้งเป้าหมายการติดตั้ง Solar Rooftop กว่า 100 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2565

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3771 วันที่  3-6 เมษายน 2565