"โรงสี" ระส่ำวอนรัฐคิดคำนวณภาษีที่ดินใหม่เป็นธรรม

05 เม.ย. 2565 | 17:56 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2565 | 01:35 น.
1.1 k

ภาษีที่ดิน ป่วน ธุรกิจโรงสีระส่ำ “สมาคมโรงสีข้าวไทย” ร้องวอนรัฐจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่เป็นธรรม “วิชัย-บรรจง” เสริมชัด ทำเป็นฤดูกาล ภาษีเดิมมีการหักคำนวณกรณีเว้นว่าง หรือ หากใช้อัตราใหม่ ขอผ่อนผันออกไปอีกสัก 2-3 ปี ให้ธุรกิจปรับตัวได้

รังสรรค์ สบายเมือง

 

นายรังสรรค์ สบายเมือง สมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วิงวอนขอความเป็นธรรมในการคิดคำนวณ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 โดยได้ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของผลกระทบที่แท้จริง ที่ทางสมาชิกสมาคมโรงสีข้าวไทย ได้รวบรวมมาโดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

1. การประเมินสิ่งปลูกสร้างที่เป็นฐานในการคำนวณภาษีดังกล่าวขาดความเป็นธรรมไม่สอดคล้องตามความเป็นจริง เพราะการใช้ขนาดของพื้นที่ในการคำนวณตามอัตราที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อบังคับใช้เหมือนกัน ทั้งประเทศ หรือใกล้เคียงกัน โดยไม่คำนึงถึงสภาพตามความเป็นจริงในแต่ละพื้นที่

 

ธุรกิจโรงสีข้าว

 

2. ธุรกิจโรงสีข้าว วัตถุดิบมาจากผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าไม่สูง แต่ใช้พื้นที่คลังสินค้าในการจัดเก็บมาก โรงสีข้าวต้องมีคลังสินค้าเพื่อรองรับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ซึ่งไม่สามารถคาดเดาปริมาณได้ ปีที่ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดมาก โรงสีข้าวอาจใช้คลังสินค้าเต็มความจุที่มี ในขณะที่ปีที่ฝนแล้ง ผลผลิตตกต่ำคลังสินค้าหลายคลังอาจไม่ถูกใช้งาน

 

3. พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ฉบับนี้ยังมีการประเมินมูลค่า สิ่งปลูกสร้างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องด้วยมีการประเมินมูลค่าสิ่งปลูกสร้างตามชนิด และพื้นที่ของสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น มิได้มีการประเมินตามสภาพความเป็นจริงของอาคาร หรือปีที่ก่อสร้างของอาคาร อันมีผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก กลุ่ม SME ย่อมได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

 

4. พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เก็บภาษีที่ดินว่างเปล่ารอบโรงงานในอัตราที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุด โดยผู้ประกอบการโรงสีข้าวหลายราย และผู้ประกอบการโรงงานอื่น ๆ มีเจตนาครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินว่างเปล่ารอบบริเวณโรงงานเป็นระยะร่นระหว่างชุมชนกับโรงงาน มิใช่มีเจตนาจะเสียค่าใช้จ่ายคอรบครองที่ดินรอบโรงงาน และปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า   โดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งการเก็บภาษีด้วยอัตราสูง ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งมีเจตนาที่ดีต่อชุมชน

 

ชาวนา

 

5. ถ้าเทียบเคียงภาษีอื่น ๆ ที่ภาครัฐได้จัดเก็บ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนำเข้าส่งออก ล้วนแล้วแต่วางหลักในการจัดเก็บภาษีที่เป็นค่อนข้างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการใช้ การได้มาเป็นหลักใช้มาก ได้มาก ก็ต้องเสียภาษีมาก ซึ่งเป็นหลักที่ถูกต้องเป็นธรรม

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อบุคคลใดสามารถหารายได้ได้มาก ก็ต้องเสียภาษีมาก  ภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อนิติบุคคลใดหารายได้สร้างกำไรได้มากก็ต้องเสียภาษีมาก หรือแม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม บุคคลหรือนิติบุคคลใดจับจ่ายใช้สอยมาก ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็เป็นเรื่องธรรมดา และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย แต่พระราชบัญญัติภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ไม่ได้คำนวณการจัดเก็บภาษีโดยคำนึงถึงเหตุ และผลในประเด็นนี้แต่ประการใด

 

กิจการโรงสีข้าวเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงอย่างใกล้ชิดกับ   ชาวนาไทย โรงสีข้าวเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของสินค้าข้าวซึ่งเป็นพืชอาหารสำคัญของประเทศไทยทั้งสำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก

 

 

โดยโรงสีข้าวเป็นผู้ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาทั่วประเทศเพื่อนำข้าวเปลือกมาแปรรูปเป็นข้าวสารโรงสีข้าวจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวนาไทยที่สุดด้วยเหตุผลดังกล่าวมาทั้งหมดนี้สมาคมอยากร้องขอให้รัฐบาลช่วยอนุเคราะห์หาทางแก้ไข ปรับปรุง การคิดคำนวณภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในกลุ่มของอุตสาหกรรมโรงสีให้เป็นไปในอัตราที่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการด้วย

 

วิชัย ศรีนวกุล

 

เช่นเดียวกับนายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าถ้าคิดตามสิ่งที่กฎหมายกำหนดเป็นอันตราที่สูง แล้วธุรกิจโรงสีทำเกี่ยวกับสินค้าเกษตร เป็นสินค้าที่ออกเป็นฤดูกาล คือฤดูเก็บเกี่ยวอีสาน เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี 2-3 เดือนช่วงผลผลิตจะออกมามาก การใช้พื้นที่จะต้องใช้จำนวนมาก ถ้าโรงสีไม่สร้างอาคารไว้มากก็รองรับพืชผลทางการเกษตรไม่ได้ทั้งหมด

 

หากเปรียบเทียบภาษีเดิม ปีหนึ่งใช้ ระยะเวลา 6 เดือน อีก 6 เดือน ว่างเปล่า ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเลย ก็มีการลดภาษีให้  เช่น ภาษี 100 บาท ถ้าไม่ใช้ 6 เดือน ก็คิด แค่ 50 บาท เป็นต้น แต่ภาษีใหม่คิดเต็มไปหมดเลย ซึ่งโรงสีก็ไม่ใช่อยากจะสร้างใหญ่โต ซึ่งเป็นเกษตรต่อเนื่องพยายามส่งหนังสือไปที่กระทรวงต่างๆ ให้อยู่ในระบบธุรกิจเกษตรต่อเนื่อง จะได้จัดภาษีอยู่ในเกษตรกรรม จะเป็นอัตราที่ต่ำลงมาหน่อย ก็พอที่จะบรรเทาได้ แต่ว่าทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ไม่ได้พิจารณาให้ มาเก็บในแบบธุรกิจพาณิชย์ทั่วไป มาคิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่ได้เปิดดำเนินธุรกิจทั้งปีแบบห้างสรรพสินค้า ดังนั้นควรจะมาคิดคำนวณใหม่ ธุรกิจนี้ควรจะอยู่ในกลุ่มหมวดไหนถึงจะถูกต้อง

 

“สิ่งที่เราเรียกร้องไปแล้วไม่ได้พิจารณา รัฐควรจะยืดไปอีกสัก 2-3 ปีได้ไหม เก็บในอัตราที่ลดหย่อน 90% แล้วก็มาพิจารณาข้อกฎหมาย ระเบียบใหม่ เพื่อจะให้อยู่ในร่องรอยที่ถูกต้อง และเป็นธรรม ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าธุรกิจโรงสีมีความแตกต่างจากธุรกิจเชิงพาณิชย์อย่างไร”

 

บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล

 

สอดคล้องกับนายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และในนามของประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร กล่าวว่าเรื่องภาษีโรงเรือน ความจริงรัฐบาลควรจะพิจารณาให้ถูก 1.อุตสาหกรรมโรงสีข้าว เป็นอุตสาหกรรมเกษตรหรือไม่ เพราะถ้าเป็นอุตสาหกรรมเกษตร แต่ถ้าเป็นให้ลดหย่อนให้หน่อย

 

2.โรงสีข้าวไม่ได้ทำทั้งปี โดยเฉพาะภาคอีสาน ทำแค่ฤดูกาลเดียว 3 เดือนเท่านั้นเอง ถ้าเอาทรัพย์สินมาตีราคา ไม่น่าจะถูกต้อง

 

3.มีคนได้คนเสีย เช่น เป็นโรงแรม หรืออพาร์ทเมนต์ ก็ได้ประโยชน์ แต่ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ต้องการพื้นที่เพื่อที่จะเก็บผลิตผลการเกษตร ก็ทำให้อุตสาหกรรมเกษตรของเราเสียหาย อยากให้รัฐบาลพิจารณา NPL เกิดขึ้นมากมาย และสถาบันการเงินต้องขายทิ้งหมด เก็บไว้ก็เป็นภาระ เนื่องจากประเทศไทย เก็บไว้ก็เป็นภาระมากกว่าราคาประเมินเสียอีก แล้วยังไม่ค่อยมีคนเอาอีก

 

“ในจังหวัดพิจิตร โรงสีเกิดขึ้นมาในสถานการณ์การเงิน แล้วถ้าเศรษฐกิจฟื้นเกษตกรจะนำเข้าวพืชผลทางการเกษตรไปขายที่ไหน อยากจะวิงวอนให้รัฐบาลคิด 1. เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกษตร จะลดบทบาทไปเป็นบทบาทเกษตรอุตสาหกรรมเป็นลักษณ์ฟาร์ม ได้หรือไม่

 

2.รัฐบาลควรจะยืนพื้นเก็บไว้ 10%  สัก 1 ปี ได้หรือไม่ แล้วค่อยกลับมาหารือกันในเรื่องความเหมาะสม อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า ธุรกิจเกิด NPA หรือ  NPL เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ จังหวัดที่โรงสีมีปัญหามากที่สุด คือ กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ เป็นต้น

 

นายบรรจง กล่าวในตอนท้ายว่า   เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา อย่างน้อยให้หารือกันก่อน ก.คลัง กระทรวงเกษตรฯ และ ก.มหาดไทย หากไม่ทำจะเสียหายมากกว่าธุรกิจ บางโรงยอมตัดหลังคาทิ้ง บางแห่งยอมปลูกต้นไม้ เพื่อให้เป็นไปตามกลไกให้เสียภาษีน้อยลง ในทางรอดต่างๆ ของเมืองไทย ลองคิดดูใหม่ เพราะกระทบกับอุตสาหกรรมมากจริงๆ