โรงสี ระส่ำ “ชาวนา” ชิ่งหนีหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ได้เงินมากกว่า

15 ม.ค. 2565 | 19:22 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2565 | 02:36 น.
1.2 k

สมาคมโรงสีข้าวไทย จัดประชุมใหญ่ ประเมินสถานการณ์ผลผลิต ปี 65 “ภาคเหนือ – ใต้-อีสาน" ระส่ำ ซัพพลายหาย “ชาวนา” ชิ่งหนีหันไปปลูกพืชชนิดอื่นได้เงินมากกว่า “ข้าวเหนียว” ลอยตัว โรงสี ระบุเป็นข้าวชนิดเดียวที่ชาวนาเป็นคนกำหนดราคาขาย “ข้าวหอมมะลิ” ควรเก็บหรือขาย ต้องอ่านที่นี่

วันที่ 15 มกราคม 2564  สมาคมโรงสีข้าวไทย ได้กำหนดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ในงานมีบรรยากาศการแสดงสินค้าและเทคโนโลยี เครื่องจักรกล ที่ให้บริษัท และสมาชิกมาออกงานแสดงสินค้า จำหน่ายในราคาพิเศษ  มีเสวนา และการประเมินผลผลิต รวมทั้งพฤติกรรมของชาวนาในแต่ละภาค มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ เป็นมิติ อาจจะส่งผลกระทบกับธุรกิจของโรงสีในอนาคต

 

“ข้าวหอมมะลิ” ควรเก็บไว้ โอกาสมีกำไรสูง

 

ตัวแทนสมาคมโรงสีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสาน เผยว่า  การผลิตข้าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ มีผลผลิตปลูกข้าวหอมมะลิ กว่า 20 ล้านไร่ มีปัญหาเรื่องของตัวเลขในการผลิต ได้แก่ พื้นที่และผลผลิตของหน่วยงานราชการที่ออกมาคาดว่าไม่น่าจะตรง เพราะว่าโรงสีซื้อข้าวโดยส่วนใหญ่ ซื้อได้ลดลงจากปีที่แล้ว

 

แต่ในเรื่องราคาข้าว ประสบปัญหาเรื่องการส่งออก ในเรื่องของท่าเรือที่มีปัญหาทำให้ราคาข้าวไม่ได้ขยับในช่วงต้น แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด หากไปดูตัวเลขการส่งออก ข้าวหอมมะลิ ในส่วนของการส่งออกเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม ตัวเลขดีกว่าในปีก่อนที่ผ่านมา

 

แต่ทำไมราคาไม่ขยับขึ้น และเพิ่งราคาจะขยับขึ้นจากปีใหม่เป็นต้นมา ในส่วนของผู้ส่งออกเองก็ไม่ได้เร่งซื้อข้าว และมีการประกันรายได้ให้กับผู้ส่งออก ราคา 1,100 กว่า มีการประกันรายได้ให้กับผู้ส่งออก น่าจะมีข้าวที่ใช้ในต้นทุนถูกอยู่ส่งออกไป แต่พอชาวนาได้มีการตั้งหลักในโครงการจำนำยุ้งฉาง เดิมทีโครงการประกันรายได้โครงการคู่ขนานดูเหมือนว่าจะง่อนแง่น ในขณะนั้น ธ.ก.ส.สั่งเบรกโครงการไว้ เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะมีเงินขับเคลื่อนโครงการหรือไม่

 

ต่อมา ธ.ก.ส. ก็แจ้ง ธนาคารสาขา ว่าโครงการนี้มีแน่นอน ให้มีการเตรียมความพร้อมและแจ้งชาวนาทั่วประเทศ ทำให้ชาวนาเริ่มตากข้าว และเก็บข้าวใส่ยุ้ง ทำให้โรงสีซื้อได้ลดน้อยลง ราคาก็หยุดไหลลง จนทำให้ราคากระเตื้องขึ้น แล้วแนวโน้มราคาก็มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคนว่าจะเก็บรอหรือไม่

 

“การประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือประกันรายได้ข้าว  เรียกกันว่า “ทำนาบนกระดาษ” มีการพิจารณาตามตัวเลขแล้ว ผิดปกติแน่นอน ที่ไม่น่าจะเกิดตัวเลขที่มากมายขนาดนั้น ในอดีตทำนา มีทั้งหมด 57 ล้านไร่ บวกลบนิดหน่อย ปัจจุบัน 60 ล้านไร่ ทำให้บริหารจัดการตัวเลขไม่ได้แน่นอน

 

แต่การแลกเปลี่ยนข่าวสารกันในสมาชิกจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการทำธุรกิจ คงจะต้องร่วมไม้ร่วมมือทำตัวเลขนี้ให้มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง แม่นยำให้มากขึ้นกว่าทางราชการ หากแต่หวังกับทางราชการอาจจะดูเลื่อนลอยกับบิ๊กดาต้า แล้วถ้าเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จะยังคงนโยบายเดิมหรือไม่ ไม่คาดเดาได้ ดังนั้นควรจะมีตรวจเลขที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ

 

ข้าวเหนียวลักลอบ ทุบโรงสีสะดุด

“ข้าวเหนียว” สภาวะตอนนี้ ราคาพุ่ง ขยับแรง แต่ราคายังขึ้นไม่ถึงจุดที่ชาวนาพอใจจะขาย เคยขายข้าวเปลือกเกี่ยวสด ประมาณ  13,000 -14,000 บาท/ตัน จากนโยบายรัฐทำให้ชาวนามีเงินเหลือพอจับจ่ายยังไม่ปล่อยข้าวออกมาขาย คาดการณ์ว่าระดับราคาอาจจะขยับขึ้นไปอีก แต่จะไปชนกับผลผลิตข้าวนาปรัง ในโซนอีสานและภาคกลางที่จะออก ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม จะทำให้หยุดความร้อนแรงของราคาข้าวเหนียวลง

 

แต่ว่าตอนนี้มีข้าวสารต่างประเทศ จากเวียดนาม และกัมพูชา ที่เข้ามา ทำให้ตัดการแข่งขันของโรงสีแล้วถ้ายิ่งปล่อยให้ของต่างประเทศราคาทะลักเข้ามาขายแทน จะส่งผลกับโรงสี เนื่องจากเมืองไทย 90% เป็นบริโภคในประเทศ ส่งออกน้อยมาก

 

“ข้าวเหนียว” ชาวนา เป็นคนกำหนดราคา

ตัวแทนโรงสีข้าวเหนียว กล่าวถึง พฤติกรรมของชาวนาหรือ เกษตรกรภาคอีสาน เกี่ยวแล้วจะเก็บไว้บริโภค ส่วนภาคกลาง ที่ชาวนาขายข้าวสด จะเทขายออกมาเลย ส่งผลทำให้ในตอนนั้นราคาข้าวเหนียวอีสาน เกี่ยวสด จึงได้ราคา 5,000-6,000 บาท/ตัน หรือ 5-6 บาท/กิโลกรัม แล้วแต่จะเรียกกัน

 

“แต่พอมีนโยบายรัฐมีเงินแจกเข้ามาช่วยเหลือชาวนา ส่งผลทำให้ข้าวเปลือกหยุดเทขาย แล้วปีนี้ก็เป็นปีที่แปลก “ข้าวเหนียว” คนที่กำหนดราคาข้าว คือ "ชาวนา"  ไม่ใช่โรงสี และผู้ส่งออก ไม่ใช่ตลาดโลกด้วย กล่าวคือ "ไม่พอใจราคาก็ไม่ขาย"

 

เลิกทำนา หันมาปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” – “มันสำปะหลัง”  

ตัวแทนโรงสีภาคเหนือตอนบน กล่าว ประเมินสถานการณ์คาดว่าผลผลิตข้าวเหนียวภาคเหนือตอนบน น่าจะหายไปเยอะพอสมควร จากที่มีโรงสีมาส่งเสริมให้มาส่งเสริมให้ปลูกข้าวหอมปทุมธานี ประกอบกับที่ผ่านมาข้าวเหนียวขายได้ราคาถูกมาก ทำให้ชาวนาหันไปปลูกพืชอื่นที่ได้ราคาดีกว่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เป็นต้น

 

จับตาเกมยื้อราคา

ด้านตัวแทนโรงสีภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ประเมินสถานการณ์ข้าวเปลือกในตอนนี้ขาดตอน การสีแปรมีน้อย ข้าวมีผลผลิตที่จะออกอีกครั้งประมาณต้นเดือนมีนาคม จะทยอยออกเรื่อยๆ ผู้ส่งออกไม่อยากจะซื้อ แต่ก็อยากจะซื้อ พยายามต่อรองราคา กดราคาขายโรงสี  ไม่เป็นธรรม ราคาข้าวเป็นราคายื้อราคาไปมาระหว่างโรงสีกับผู้ส่งออก  “ข้าวหอมจังหวัด” ราคาปรับขึ้น ก่อนหน้านั้นราคาไม่สูง เพราะแย่งซื้อ แย่งขาย  ตอนนี้เหลือโรงสีข้าว เหลือ 7-8 โรง ที่อยู่ได้ จาก 20 กว่าโรง

 

 

“ภาคใต้” ชาวนา หันไปปลูกปาล์ม ราคาดีกว่า  

ตัวแทนโรงสีภาคใต้ กล่าวว่า ภาคใต้ มีเรื่องที่น่ากังวลพื้นที่ทำนาน้อยอยู่แล้ว ทำให้ชาวนา มีบางส่วนหันไปปลูกปาล์ม ที่มีราคาดีกว่า ตอนนี้ 10 กว่าบาท/กิโลกรัม ที่จะต้องเสียพื้นที่ให้ไปให้ปาล์ม ส่วนสถานการณ์ค้าข้าวขายข้าวสารดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว

 

“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา" บูม แย่งพื้นที่นาปรังหายวูบ

 

ปิดท้ายตัวแทนโรงสีภาคกลาง กล่าวว่า ถึงสถานการณ์ข้าวหอมมะลิ ปีนี้มีผลผลิตไม่มาก อย่างที่คาดการณ์ไว้ โดนฝนชะเกสร รอบหนึ่งประมาณปลายเดือนกันยายน และในเดือนกันยายนทุ่งที่ทำข้าวหอมมะลิ ก็โดนน้ำหลาก ทำให้ผลผลิตลดลง ก็เก็บเกี่ยวในนาค่อนข้างจะลำบากมาก

 

"โรงสีแต่ละโรงที่ไปซื้อ ไม่เป็นไปตามเป้าที่ต้องการ ส่วน ณ วันนี้ทุ่งที่โดนน้ำหลากอยู่ในที่ลุ่มนิดหน่อย จะปลูกนาปรังต่อเนื่องเลย อีกทั้งมีบริษัทใหญ่ เข้ามาร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ทำข้าวโพดหลังนา มาแย่งพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังไปอีก"