ชู “GMP Plus” ปั้นโมเดลทุเรียนไทย ปลอดโควิดไปจีนป้องตลาดแสนล้านบาท

31 มี.ค. 2565 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2565 | 21:55 น.

“มนัญญา” ตั้งเป้า ปี 65 จับมือผู้ส่งออกทุเรียนเมืองจันทร์ ชู “GMP Plus” ปั้นโมเดลทุเรียนไทย ปลอดโควิดไปจีนรักษาตลาดแสนล้านบาท

ลงพื้นที่จันทร์บุรี

 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรและสหกรณ์  กล่าวในการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ปี 65  ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีพร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชนและเกษตรกรโดยย้ำว่า  ขอให้ช่วยกันพัฒนาทุเรียนคุณภาพปลอดโควิด19 เพื่อรักษาตลาดส่งออก โดยเกษตรกรต้องมีความซื่อสัตย์ไม่ตัดทุเรียนอ่อนมาจำหน่ายขณะที่ภาคเอกชนให้ยกระดับโรงคัดบรรจุเข้าสู่GMP Plus  ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันทำแนวปฏิบัติไว้ให้จันทบุรีเป็นพื้นที่นำร่องสร้างระบบทำให้ทุเรียนไทยปลอดโควิดเพื่อให้ทางการจีนเชื่อมั่นว่าทุเรียนไทยปลอดโควิด 100%

 

ทั้งนี้ขอย้ำเรื่องการห้ามตัดทุเรียนอ่อนเพราะจะเป็นการทำลายโครงสร้างของการส่งออกทุเรียนทั้งหมด ซึ่งเมื่อวันที่ 30มี.ค.65 สามารถตรวจจับทุเรียนอ่อนได้ประมาณ 200 กิโลกรัมเป็นการแสดงให้เห็นว่ายังมีการฝืนประกาศจังหวัดจึงต้องมีการดำเนินคดี นอกจากนั้นขอให้ทูตเกษตรในจีนรายงานสถานการณ์ทุกวันและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบเพื่อการปรับเส้นทางขนส่งล่วงหน้า

 

แถลงข่าว

"การทำการค้าต้องใช้ความซื่อสัตย์ในการค้าขายกัน ลูกค้าสำคัญที่สุด เมื่อจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ1 พี่น้องจีนชอบผลไม้ของเรา คนไทยก็ต้องช่วยกันเพราะคือรายได้ของประเทศและคือรายได้ของพี่น้องเกษตรกรที่ขายทุเรียนได้ราคาดี ในปี64 ไทยส่งออกทุเรียน 925,855  ตัน มูลค่า119,160 ล้านบาท เป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชาวสวนต้องช่วยกัน ดังนั้นแนวทางหรือเครื่องมือป้องกันเชื้อโควิด 19 ที่ทางการจีนเชื่อมั่น รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนให้เอกชนมีใช้ 

ใช้  ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านฝากไว้คือการแก้ไขปัญหาผลไมัและการส่งออกที่ยั่งยืน ฉะนั้นเอกชนที่ส่งออกในจังหวัดต้องการให้ช่วยอะไรให้ตั้งข้อเสนอขึ้นมาภายใน 7 -15 วันนี้ต้องได้คำตอบเพื่อทำงานแข่งกับเวลาเนื่องจากทางจีนเองก็มีการปรับแนวทางตลอดเวลาเพื่อป้องกันโควิด ท่านนายกฯกำชับ ขอให้ได้มาตรการที่ยั่งยืน" รมช. มนัญญากล่าว

 

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่าขอให้ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่6 จันทบุรี ไปหารือกับเอกชนให้ได้ข้อยุติในเรื่องเครื่องพ่นฆ่าเชื้อ6 มิติ รวมทั้งข้อสนับสนุนอื่นๆออกมาเพื่อจะได้เสนอต่อรมช.เกษตร และรัฐบาล สำหรับผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)พื้นที่6 รายงานว่า ทุเรียนภาคตะวันออกปี 65 จะมีผลผลิตจำนวน 744,549 ตัน เพิ่มจากปี64 ซึ่งมีประมาณ 575,542 ตัน หรือเพิ่มร้อยละ 29.36   เฉพาะทุเรียนจันทบุรีในปี65 คาดว่าจะมีผลผลิต  508,876  ตัน  ผลผลิตเริ่มออกปลายมี.ค. จะออกมาที่สุดเดือนพ.ค. ปริมาณ112,762 ตัน

 

 

ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (ข้อ6)

ทั้งนี้จังหวัดจันทบุรีปี2565 ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแนวปฏิบัติการด้านสาธารณสุขป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดผลไม้จันทบุรีไร้โควิด โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในการปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP Plus  แนวทางของกระทรวงสาธารณสุขตรวจโรงคัดบรรจุล้ง)ซึ่งผ่านเกณฑ์ประเมิน ณ วันที่  31 มี.ค.65 สมัครเข้าGMP Plus จำนวน 204 แห่ง  ผ่านประเมินแล้ว 204 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างปรับปรุงซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องสมัครใจ จากล้งทั้งหมดในจังหวัดประมาณ600 ล้ง 

 

 

นายสัญชัย ปุรณชัยศรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ขณะนี้เครื่องฆ่าเชื้อ6 มิติ ซึ่งเป็นเครื่องที่จีนใช้กันเป็นสิ่งจำเป็นเพราะหากตรวจพบในสินค้าจีนจะสั่งกักทันทีกระทบทั้งหมด เป็นเรื่องที่นาทีนี้ทุกล้งต้องช่วยกันให้เวลา 40วันที่ต้องช่วยกันเตรียมความพร้อมสำหรับส่งไปจีน และขอให้รัฐบาลเร่งกระตุ้นการบริโภคในประเทศด้วยเป็นการรองรับหากส่งออกจีนไม่ได้

 

 

ทุเรียน