อาหารสัตว์วัดใจ หยุด-ไปต่อ รัฐบีบเร่งนำเข้าข้าวสาลีใน 3 เดือน ไม่ตอบโจทย์

20 มี.ค. 2565 | 06:00 น.
4.0 k

52 บริษัทอาหารสัตว์ ลุ้นไปต่อหรือชะลอผลิต หลังพาณิชย์ไฟเขียวยกเลิกมาตรการ 3 : 1 ชั่วคราวถึง 31 ก.ค.บีบเร่งนำเข้าใน 3 เดือนก่อนเส้นตาย ขณะข้าวสาลีราคาพุ่งแรงใกล้แซงข้าวโพดไม่จูงใจนำเข้า ผู้เลี้ยงไก่ชี้ภาคปศุสัตว์ได้ประโยชน์น้อย วอนปล่อยตามกลไกตลาด

 

 ที่ประชุมร่วมกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร วันที่ 15 มี.ค. 2565 มีมติเห็นชอบยกเลิกมาตรการกำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน หรือมาตรการ 3:1 เป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ก.ค.2565 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรที่จะมีผลผลิตข้าวโพดออกสู่ตลาดช่วงตั้งแต่เดือน ส.ค.นั้น

 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการดังกล่าวสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่เวลานี้วัตถุดิบขาดแคลนและมีราคาแพง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนลงได้บ้าง แม้จะไม่มากนักก็ตาม ซึ่งขอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะกรรมการนโยบายอาหาร ที่มีรัฐมนตรัว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้เร่งพิจารณากำหนดปริมาณนำเข้าข้าวสาลีจากการยกเลิกมาตรการ 3:1 และนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติโดยเร็ว

 

อาหารสัตว์วัดใจ หยุด-ไปต่อ รัฐบีบเร่งนำเข้าข้าวสาลีใน 3 เดือน ไม่ตอบโจทย์

 

ทั้งนี้หากพิจารณาตามกรอบเวลาถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 หมายความว่าจากนี้ไปเหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือนครึ่ง ซึ่งหากผู้ประกอบการได้ทราบปริมาณการนำเข้าตามที่ภาครัฐจะกำหนดชัดเจนแล้ว ผู้ผลิตอาหารสัตว์โดยเฉพาะยิ่งสมาชิกของสมาคมฯ (สมาชิกของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยมี 52 บริษัทรวมร้อยกว่าโรงงาน) ต้องมาจัดสรรปันส่วนการนำเข้าข้าวสาลี ซึ่งใครจะได้มากน้อยอาจพิจารณาจากประวัติการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรเพื่อแลกกับการนำเข้าข้าวสาลี หรือต้องสอบถามก่อนว่าใครสนใจจะนำเข้าบ้าง

 

“ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีเดือนละประมาณ 1 แสนตัน ดูจากระยะเวลาที่เหลือประมาณ 3 เดือนครึ่งตามที่ภาครัฐได้ยกเลิกมาตรการ 3:1 ชั่วคราวแล้ว อาจจะนำเข้าได้ 3-4 แสนตัน หรืออาจจะไม่ถึง เพราะหลังจากแบ่งสรรปันส่วนปริมาณนำเข้าแล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องไปเจรจาสั่งซื้อจากต่างประเทศว่ามีของให้หรือไม่ มีเรือส่งหรือเปล่า ส่งให้ได้เมื่อไหร่ กว่าจะขอใบเสนอราคา กว่าจะตกลงปริมาณและราคากันได้กรณีดีสุดอาจส่งของให้ได้ใน 1 เดือนกรณีมีเรือและมีสินค้า แต่หากกรณีเขามีบุ๊คกิ้งลูกค้ารายอื่นไว้ล่วงหน้าหมดแล้วในเรื่องจำนวนสินค้า และเรือขนส่ง ถ้าจะเอาต้องรอหลังเดือนกรกฎาคม กรณีอย่างนี้ก็เสร็จเลย เพราะช่วงนั้นต้องไปใช้มาตรการ 3 : 1 ตามเดิมก็จะเกิดความยุ่งยาก”

 

อาหารสัตว์วัดใจ หยุด-ไปต่อ รัฐบีบเร่งนำเข้าข้าวสาลีใน 3 เดือน ไม่ตอบโจทย์

 

นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า แหล่งนำเข้าข้าวสาลีที่ยังพอมีทางเป็นไปได้เวลานี้ อาทิ อินเดีย ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในยุโรป ส่วนประเทศที่คงไม่สามารถนำเข้าได้ คือยูเครนที่ประกาศระงับการส่งออกจากผลกระทบสงคราม และต้องเก็บสำรองไว้เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร อย่างไรก็ดีอีกปัญหาที่อาจไม่จูงใจผู้ผลิตอาหารสัตว์นำเข้าข้าวสาลีในช่วงนี้ จากราคาข้าวสาลีในตลาดโลกขณะนี้ราคาแพงใกล้เคียงกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปกติราคาข้าวสาลีจะถูกกว่าข้าวโพดปริมาณ 1 บาทจูงใจนำเข้า

 

อาหารสัตว์วัดใจ หยุด-ไปต่อ รัฐบีบเร่งนำเข้าข้าวสาลีใน 3 เดือน ไม่ตอบโจทย์

 

“ที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์กังวลคือ กรอบระยะเวลาการยกเลิกมาตรการ 3 : 1 สั้นมาก ปริมาณนำเข้าจะได้เท่าไหร่ จะนำเข้ามาได้ทันตามกรอบเวลาหรือไม่ และราคาข้าวสาลีที่แพงเท่าข้าวโพดก็ไม่จูงใจนำเข้า ขณะที่ราคาขายอาหารสัตว์ยังถูกภาครัฐตรึงราคาขาย ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ดังนั้นจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ผลิตอาหารสัตว์แต่ละรายว่าสนใจจะนำเข้าข้าวสาลีหรือไม่ หากไม่นำเข้าก็จะขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งสมาชิกเรา 52 บริษัทรวมกว่าร้อยโรงงาน บางรายอาจปรับลดการผลิต หรือปิดไลน์ผลิตไป เรื่องนี้เป็นความลับของแต่ละบริษัทไม่มีใครมาแจ้ง”

 

นางฉวีวรรณ  คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการ 3:1 เป็นการชั่วคราวถึงแค่เดือน ก.ค. 65 มองว่ากรอบเวลาสั้นมาก  และการดำเนินการยังมีความล่าช้าในทางปฏิบัติ เพราะภาครัฐยังต้องไปกำหนดรายละเอียดเรื่อโควตาหรือปริมาณนำเข้า วันที่เริ่มนำเข้า เพื่อปกป้องชาวไร่ข้าวโพด แต่ทอดทิ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้แบกภาระต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นมากในปีนี้ ทั้งข้าวโพด ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง เพราะอาหารสัตว์เป็นต้นทุนของการเลี้ยงสัตว์ 60-70% ขณะที่อาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ถูกควบคุมราคาทั้งห่วงโซ่การผลิต ทำให้ภาคผู้เลี้ยงสัตว์ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง

 

ดังนั้นภาครัฐไม่ควรมองในมุมการดูแลผู้บริโภคอย่างเดียว แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วย โดยให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน และยังพอมีกำไร และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3767  วันที่ 20 -23 มีนาคม 2565