ครม.ยกเลิกกรอบกู้เงินโปะกองทุนน้ำมัน 4 หมื่นล้าน ตรึงดีเซลวันต่อวัน

15 มี.ค. 2565 | 14:19 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 21:26 น.
2.4 k

ที่ประชุมครม. เคาะยกเลิกกรอบกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 4 หมื่นล้าน เปิกทางตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อ รองนายกฯ ยันดูสถานการณ์เป็นรายวัน หลังราคายังผันผวน พร้อมหารือปรับลดภาษีสรรพสามิต

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. ว่า ที่ประชุมครม. รับทราบการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

 

โดยยกเลิกกรอบการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกินจำนวน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ให้มากที่สุด 

 

“เมื่อมีวงเงินในกองทุนฯ เพิ่มขึ้น ทำให้การตรึงราคาน้ำมันดีเซลยาวขึ้นได้อีก ซึ่งตอนนี้ต้องดูสถานการณ์แบบวันต่อวัน เพราะตอนนี้ราคาผันผวนเร็วมาก และทุกวันต้องใช้เงินไปตรึงวันละ 7 บาทต่อลิตร ส่วนการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินตอนนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป” 

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ครม.เห็นชอบร่างแผนรองรับวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2563-2567 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เป็นการปรับปรุงแผนรองรับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความยืดหยุ่นในการรักษาเสถียรภาพ ระดับราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

มีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ยกเลิกการกำหนดวงเงินบริหารกองทุนน้ำมันฯ รวมวงเงินกู้ยืมต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท จากเดิมกำหนดการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท โดยจะมีการออกร่าง พ.ร.ฎ. เพื่อแก้ไขกรอบวงเงินดังกล่าวต่อไป 
  2. ปรับกลยุทธ์การถอนกองทุนน้ำมันฯ (Exit Strategy) โดยให้ยกเลิกการปรับสัดส่วนการช่วยเหลือลงครึ่งหนึ่ง เมื่อฐานะกองทุนน้ำมันใกล้ติดลบตาม พ.ร.ฎ. ขยายกรอบวงเงินฯ กู้ เป็น 30,000 ล้านบาท แต่ยังคงดำเนินการหารือการปรับลดภาษีสรรพสามิต เพื่อให้ระดับราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนักและเริ่มดำเนินการกู้เงินเพื่อให้กองทุนน้ำมันไม่ขาดสภาพคล่อง

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแผนรองรับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะในส่วนของหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน ฯ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และให้มีเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน ฯ อย่างมีประสิทธิภาพด้วย 

 

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องก๊าซธรรมชาติ และก๊าซหุงต้ม พร้อมทั้งให้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากที่สุดด้วย