“คมนาคม” สั่งกทท.เร่งบิ๊กโปรเจคต์ ดันไทยฮับขนส่งทางน้ำรุกอาเซียน

03 มี.ค. 2565 | 13:51 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2565 | 21:17 น.

“คมนาคม” เร่งกทท.ปั้นบิ๊กโปรเจคต์ ดึงเอกชนร่วมทุน หวังไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางน้ำในอาเซียน สั่งปรับองค์กรอัพเกรดสาระดับเวิลด์คลาส ด้านกทท.ปลื้มผลประกอบการปี 64 โกยรายได้ 1.56 หมื่นล้านบาท ฝ่าโควิด-19

นาย เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า สำหรับผลประกอบการในปี 2564 มีรายได้เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 15,613 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 อยู่ที่ 14,632 ล้านบาท มีรายจ่าย 9,300 ล้านบาท กำไรอยู่ที่ 6,200 ล้านบาท เติบโตจากผลประกอบการในปี 2563 อยู่ที่ 600 ล้านบาท ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 มาจากรายได้ด้านสินค้า 70% ด้านขนส่งทางเรือ 12% การบริหารจัดการค่าเช่าที่ดิน 9.54% การบริการ 2.91% รายได้อื่นๆ 4.89% ทั้งนี้มีรายได้มาจากท่าเรือแหลมฉบัง 56.90% ท่าเรือกรุงเทพ 42.83% ท่าเรือภูมิภาค 0.27%

 

 

 

 นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ส่วนการลงทุนของกทท.นั้นมีแผนดำเนินการ 7 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำมาสเตอร์แพลน 2.โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ลดการจราจรติดขัดทางถนน 3.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 4.โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ 5.โครงการพัฒนาท่าเรือระนอง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน 6.การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ 7.โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port)

 

 

 ด้านสถิติปริมาณตู้สินค้าในปี 2564 พบว่าส่วนแบ่งทางการตลาดด้านการขนส่งทางทะเล 87% ด้านการขนส่งทางน้ำ อยู่ที่ 79% ภาพรรวมการขนส่งทั้งทางน้ำและทางทะเล 85% มีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 9.8 ล้านที.อี.ยู เทียบกับปริมาณตู้สินค้าปี 2563 อยู่ที่ 9 ล้านที.อี.ยู มาจากท่าเรือแหลมฉบัง 8.4 ล้านที.อี.ยู ท่าเรือกรุงเทพ 1.4 ล้านที.อี.ยู ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2563 การจัดอันดับท่าเรือทั่วโลก พบว่าท่าเรือแหลมฉบังอยู่ในอันดับที่ 22 มีปริมาณตู้สินค้าอยู่ที่ 7.6 ล้านที.อี.ยู โดยกทท.ตั้งเป้าท่าเรือแหลมฉบังติดอันดับ 1 ใน 20 ท่าเรือทั่วโลก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การมอบนโยบายและเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นั้น ตนได้รับทราบจากการรายงานของกทท.ถึงผลประกอบการปี 2564เป็นบวกอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ตาม เบื้องต้นได้มีข้อสั่งการนโยบายเพิ่มเติม โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโลจิสติกส์ทางน้ำมีความสำคัญโดยต้องบูรณาการกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาศักยภาพของการขนส่งสินค้าทางน้ำให้เต็มความสามารถ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ดังนี้ 1.การเร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และพัฒนาระบบท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) มาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการ โดยจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีความแม่นยำในการวางแผนสำหรับการบรรทุกขนถ่ายสินค้า รวมทั้งการบริหารพื้นที่หลังท่าเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ รองรับปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 18 ล้านที.อี.ยู กทท. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 2568 เพื่อส่งเสริมศักยภาพของ EEC และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

 

 

2.การจัดตั้งสายการเดินเรือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมพาณิชย์นาวีและส่งเสริมให้มีการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำ โดยเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำเพื่อลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ สนับสนุนการส่งออกและนำเข้า เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดการขาดดุลบริการด้านค่าระวางเรือ ทั้งนี้กทท.ต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนเอกชนให้มีความแข็งแรง โดยกทท.ต้องดำเนินการพัฒนาท่าเรือในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเชื่อมต่อการเดินทางถึงอีอีซี ทั้งนี้ ให้ กทท. บูรณาการร่วมกับกรมเจ้าท่า เพื่อจัดทำสายการเดินเรือแห่งชาติในรูปแบบ Domestic และ International รวมทั้งพิจารณากลยุทธ์ในการพัฒนาท่าเรือเพิ่มในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในประเทศ เพื่อให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ

“คมนาคม” สั่งกทท.เร่งบิ๊กโปรเจคต์  ดันไทยฮับขนส่งทางน้ำรุกอาเซียน

 

 

 3.เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรี โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หลักธรรมาภิบาล และการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 4.สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางชายฝั่ง เพื่อส่งเสริมนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากระบบถนนมาสู่ระบบราง รวมทั้งการขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่ง (Shift Mode) เพื่อลดต้นทุนด้านระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นการพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าทางน้ำในประเทศ

5. เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ในภาพรวม รวบรวมและกระจายสินค้า เพื่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคต่าง ๆ ภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมการขนส่งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าของประเทศ

 

“คมนาคม” สั่งกทท.เร่งบิ๊กโปรเจคต์  ดันไทยฮับขนส่งทางน้ำรุกอาเซียน

 6. พัฒนาโครงการ Landbridge โดยการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งของ Landbridge ให้เชื่อมต่อระบบการขนส่งอื่นอย่างไร้รอยต่อ (Seamless) เพื่อลดเวลาและต้นทุนการขนส่ง เมื่อเทียบกับท่าเรืออื่นในอาเซียน เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกหันมาใช้เส้นทาง Landbridge เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกแทนเส้นทางการค้าเดิม ทั้งนี้ ให้ กทท. เข้ามาบูรณาการร่วมกับ สนข. จท. ทล. ขบ. และ รฟท. เพื่อให้ความเห็นและมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบ การลงทุนและBusiness Model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวก และลดต้นทุนของระบบโลจิสติกส์อย่างเป็นรูปธรรม

 

7. ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ต้องดำเนินการให้เป็นระบบ โดยมีการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และวางแผนบริหารจัดการทั้งด้าน Demand และ Supply เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

 


8. การบริหารงานของ กทท. ต้องยึดระเบียบ กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
9. การพิจารณาศึกษาการปรับรูปแบบโครงสร้างของการบริหาร กทท. ให้ดำเนินการบริหารจัดการที่ทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความผันผวนของเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรระดับ world class โดยต้องศึกษาให้รอบด้านและคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งสหภาพแรงงานและภาคเอกชน

 

“คมนาคม” สั่งกทท.เร่งบิ๊กโปรเจคต์  ดันไทยฮับขนส่งทางน้ำรุกอาเซียน

 


นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบแนวทางการดำเนินงานให้กับ กทท. เพิ่มเติม ได้แก่ การบริหารจัดการท่าเรือที่ประสบภาวะการบริหารที่ขาดทุน เช่น ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและท่าเรือระนอง ให้กลับมาได้กำไรอีกครั้ง โดยต้องช่วยกันบูรณาการหารือกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจาก ทลฉ. เข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อลดปัญหาจราจร และลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และได้เร่งรัดให้ กทท. ดำเนินการโครงการ Smart Community ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน สำหรับนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มอบแนวทางเพิ่มเติมในเรื่องการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยต้องบูรณาการร่วมกับ รัฐวิสากิจอื่น ๆ ที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาให้เกิดการ Shift Mode ของการขนส่งสินค้า รวมทั้งการบริหารทรัพย์สินทางด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐให้มากที่สุด