ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือนํ้าลึกอันดับหนึ่งของประเทศ และเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ซึ่งมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ท่าเรือแหลมฉบังปัจจุบันรองรับได้ 11 ล้านทีอียู ปัจจุบัน กทท. อยู่ระหว่างการลงนามกับผู้ประกอบการเอกชนที่ผ่านการคัดเลือก โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 หากดำเนินการได้ จะรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 18 ล้านทีอียู ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์หลักๆ ดังนี้ คือ ท่าเทียบเรือ A0, A2, A3, B1, B2, B3, B4, B5, C1, C2, C3, D1, D2 และ D3 เป็นการทำสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนบริหารจัดการท่าเทียบเรือกำกับดูแลโดยท่าเรือแหลมฉบัง
แหล่งข่าวจากวงในท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบังเกิดปัญหาการจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะรถบรรทุกตู้ฯเข้ามาใช้บริการส่งตู้และคืนตู้ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลประทบต่อการนำเข้า-ส่งออกและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก หากวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงจะพบว่ารถบรรทุกที่นำตู้เข้ามาเพื่อส่งออกจะหนาแน่นเฉพาะวันอังคาร, พุธ และพฤหัส ช่วงเวลาหลัง 12.00 น. ถึง 22.00 น. เท่านั้น เฉลี่ยประมาณ12,000-14,000 คันต่อวัน ขณะวันอาทิตย์มีปริมาณรถบรรทุกนำเข้าตู้สินค้าเพื่อส่งออก เฉลี่ย 5,000-6,000 คันต่อวัน ทำให้มีรถที่เข้าใช้บริการเฉลี่ยราว 78,000 คันต่อสัปดาห์ ทั้งที่ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่ให้บริการสาธารณะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นหากรถบรรทุกกระจายการเข้าใช้บริการจะช่วยลดความแออัดหนาแน่นลงได้มาก
ไม่เพียงเท่านั้นยังพบอีกว่า ปัญหาหลักอีกหลายส่วนภายในท่าเรือแหลมฉบังไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการท่าเรือเพียงฝ่ายเดียว เช่น เรือที่เข้าเทียบท่าล่าช้าไม่มาตรงเวลาตามตารางเรือ (Delay) ที่กำหนดล่วงหน้า ซึ่งเป็นผลจากความล่าช้าจากท่าเรือในต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ไม่นานพบว่าท่าเรือที่ประเทศสิงคโปร์ หรือเรือที่มาจากประเทศจีนเจอมรสุม ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทำให้ผู้ประกอบการท่าเรือต้องปฏิบัติงานเรือที่รอคิวเข้าท่าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่รองรับการวางตู้ในท่ามีจำกัดตามสัญญาที่ทำกับ กทท. จึงไม่สามารถนำมาวางได้เพิ่ม ทำให้ต้องรอตู้สินค้าที่เข้ามาก่อนถูกย้ายออกยกขนไปวางบนเรือลำต่อไปก่อน
จากความล่าช้าของเรือที่เข้ามาไม่ตรงเวลา ไม่ได้มีผล กระทบเฉพาะท่าเรือในทวีปเอเชียเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับท่าเรือทั่วโลกท่าเรือแหลมฉบังก็ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกัน ทำให้ตู้ตกค้างและสะสมในท่าเรือแหลมฉบังมากขึ้นรวมทั้งพื้นที่ในท่าเรือไม่เพียงพอต่อปริมาณตู้ที่เข้ามาใช้บริการปัญหาการจราจรหนาแน่นไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น ท่าเรือเอกชนภายนอกเช่นท่าเรือเคอรี่ สยาม ซีพอร์ต ก็เกิดปัญหาจราจรหนาแน่น และยังไปติดขัดบนท้องถนนหลวงอีกด้วย
ทั้งนี้ยังพบว่าปริมาณตู้สะสมที่มีเข้ามาทับซ้อน ไม่เป็นไปตามลำดับของเรือ (sequence ของเรือ) ทำให้ตู้บางส่วน ไม่สามารถขึ้นเรือได้ กระทบกับพื้นที่ลานกองตู้ไม่มีพื้นที่เพียงพอ โดยปกติท่าเทียบเรือแต่ละแห่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 60-70% รองรับการหมุนเวียนของปริมาณตู้สอดคล้องกับการใช้เครื่องมือยกขนที่ใช้ทั้งในเวลาปฏิบัติงานเรือและในลานกองตู้ แต่ปัญหาความแออัดนี้ ทำให้ต้องใช้พื้นที่ 100% เต็ม ไม่เหลือพื้นที่เพียงพอในการใช้เครื่องมือยกขนได้เต็มที่ อีกทั้งยังมีปัญหาตรวจสอบสินค้าตามกฎหมายศุลกากร, เอกสารไม่พร้อมหรือครบถ้วน, พนักงานขับรถบรรทุกขาดทักษะการใช้อุปกรณ์ในการเข้าถึงข้อมูล ฯลฯ “ปัญหาการจราจรในท่าเรือแหลมฉบังที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปัญหามานานหลายปี แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจนจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปแล้ว”
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในระยะสั้นนั้น ดังนี้ 1. ท่าเรือแหลมฉบังควรเร่งรัดใช้ระบบ Truck queuing เต็มรูปแบบ (100%) เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการท่า โดยการนำระบบ Truck Queuing มาใช้ 100% ทำให้ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก และภาคการขนส่งสามารถคาดการณ์เวลาที่จะส่งหรือรับตู้ได้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการการผลิตและการขนส่งล่วงหน้าได้เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจร
2. ท่าเรือแหลมฉบังควรจัดหาพื้นที่ให้รถบรรทุกตู้รอคอยเป็นกรณีพิเศษ เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ควรอนุญาตให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสามารถใช้พื้นที่วางตู้เป็นการชั่วคราวได้ทันที จนกว่าสถานการณ์การจราจรและความแออัดจะลดลงหรือเบาบางลง เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนถนน
3.รถบรรทุกที่ไม่มีตู้ (รถหางเปล่า) สามารถออกจากท่าเรือแหลมฉบังได้ทุกประตู เพื่อแบ่งเบาการจราจรที่ประตูที่ 1 (Main Gate) ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาติดขัดมาก หากให้รถบรรทุกรถหางเปล่าออกประตูที่ 1 จะบรรเทาการจราจรแออัดได้
4.รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถเข้า-ออกจากท่าเรือแหลมฉบังที่ประตูที่ 3 ได้ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางบนถนนเมืองพัทยาและถนนสาย 331 ได้โดย ตรงจากถนนที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งเป็น การลดการกระจุกตัวที่ประตูที่ 2
5. จากปริมาณตู้ที่เข้ามากผลจากเรือที่เข้ามาล่าช้า ท่าเรือแหลมฉบังควรหารือกับบริษัทสายเรือ เพื่อต้องแจ้งลูกค้า (ผู้ส่งออก) เลื่อนการส่งตู้เข้าท่าเรือตามเรือที่เข้าล่าช้าออกไป
ปัญหาการจราจรและ ความแออัดในท่าเรือแหลมฉบังนั้น การแก้ปัญหาที่ท่าเรือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงจำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมการปัญหาอย่างบูรณการ โดยเฉพาะการจัดการด้านข้อมูลใช้เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน โดยท่าเรือแหลมฉบัง และ กทท. ควรอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ. การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เพื่อกำหนดมาตรการจูงใจ และมาตรการบังคับให้ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกนำตู้เข้ามาเวลาที่ไม่ใช่ เวลาที่ท่ากำลังปฏิบัติงานเรือหากสามารถดำเนินการได้จะช่วยลดปัญหาการจราจรที่หนาแน่นได้ลงอย่างมาก