กังขารื้อสัมปทานไฮสปีดฮึ่ม!รัฐเสียประโยชน์ฟ้อง ม.157

02 มี.ค. 2565 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2565 | 21:57 น.
2.2 k

 กังขา รฟท. รื้อสัญญาสัมปทาน ไฮสปีดอีอีซี ผู้รับเหมา-ACT-บีทีเอส ฮึ่ม !จ่อเอื้อประโยชน์ เอกชนคู่สัญญา คว้างานก่อน แก้สัญญาทีหลังอ้างโควิด หากพบทำรัฐเสียประโยชน์ประชาชนอาจฟ้อง ม.157 ได้ 

 

"กังขา  รฟท. รื้อสัญญาสัมปทาน ไฮสปีดอีอีซี" กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(บอร์ดรฟท.) ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธานมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)คู่สัญญาบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี  ปรับเกณฑ์สัญญาสัมปทานลดผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดอีอีซี มูลค่า 2.24 แสนล้านบาทระยะทาง 220 กิโลเมตรตามแนวทางที่ 4 “สร้างไปจ่ายไป” จาก 4 แนวทางที่ศึกษาไว้ 

 

อ้างโควิดเอื้อรื้อสัญญา

               

โดยระบุให้รฟท. ทยอยจ่ายเงินลงทุนจำนวน 7 งวด งวดละเท่าๆกัน เริ่มตั้งแต่ปีที่ 3 ถึงปีที่ 9 งวดละ 19,071 ล้านบาท รวม 133,495 ล้านบาท ส่งผลให้เอกชนคู่สัญญาลดผลกระทบจากการกู้สินเชื่อสถาบันการเงินลงทันทีเพราะกู้เพียง  87,990 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสัญญาเดิม เอกชนต้องก่อสร้าง แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ เดินรถภายใน 5 ปี

 

หลังจากนั้น รฟท.จึงจะสนับสนุนเงินลงทุนให้ในปีที่ 6 ถึงปีที่ 15 จำนวน 10 งวด งวดละ 14,965 ล้านบาทรวม 149,650 ล้านบาท ทางด้านเอกชนคู่สัญญาต้องกู้เงินลงทุน 135,484 ล้านบาท ซึ่งมองว่ามีความเสี่ยงสูงสถาบันการเงินอาจไม่สนับสนุน เพราะ ความคุ้มค่าการลงทุนลดลงจากการมาของโควิด

กังขารื้อสัมปทานไฮสปีดฮึ่ม!รัฐเสียประโยชน์ฟ้อง ม.157

ขณะก่อนหน้านี้ได้เห็นชอบให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน  แบ่งชำระเงินค่าโอนสิทธิ์บริหารเดินรถ ไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์  6 งวด (6ปี) วงเงิน 10,671 ล้านบาท เดิมต้องจ่ายก้อนเดียวภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 หรือวันส่งมอบพื้นที่ ตามเงื่อนไขสัญญา และขยายระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่

 

ครบสมบูรณ์ช่วงสุวรรณภูมิถึงดอนเมืองระยะทาง 170 กิโลเมตรออกไปถึงเดือนพฤษภาคม 2565  รวมทั้งโอนสัญญาที่ 1 ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ วงเงิน 9,207 ล้านบาท ของรถไฟไทย-จีนให้กับบริษัทเอเชียเอราวันก่อสร้างแลกกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

 

พิรุธคว้าก่อน..แก้สัญญาทีหลัง

               

อย่างไรก็ตามแม้วิธีนี้จะเป็นทางออกที่ดีต่อการขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีให้ก้าวไปข้างหน้า ท่าม กลางวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในมุมกลับกันทางด้านกลุ่มผู้รับเหมา นักวิชาการ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขสัญญาผ่อนปรนโดยใช้ข้ออ้างโควิดยังฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมาระบุว่าอาจเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง เสนอราคาต่ำให้ได้งาน ไว้ในมือก่อน แล้วอาจจะช่วยแก้สัญญาเพิ่มสิทธิประโยชน์ในภายหลังเพราะพิจารณาจากก่อนหน้านี้ภาครัฐ เร่งรัดเอกชนคู่สัญญาให้ลงนามในสัญญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนเข้าพื้นที่อีอีซี ทั้งที่ ชนะประมูลมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี   

 

ทำรัฐเสียประโยชน์ฟ้องได้

               

สำหรับการแก้ไขสัญญาในครั้งนี้ อาจสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับคู่แข่งขันในขณะนั้นรวมทั้งรฟท.เองจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบต้องหาเงินมาลงทุนสนับสนุนเอกชนเร็วขึ้นขณะแอร์พอร์ตลิงก์ ได้เงินจากเอกชนช้าลง มีหนี้เพิ่มขึ้นจากการหาเงินมาหมุนเวียนใช้หนี้ในองค์กรอีกประการหนึ่งการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าของรฟท.เป็นอีกประเด็นที่เอกชนคู่สัญญาใช้เป็นข้ออ้าง อาจนำไปสู่การแก้ไขสัญญาเพิ่มสิทธิประโยชน์

               

ประเมินว่าการแก้ไขสัญญาครั้งนี้ อาจส่งผลให้เหล่าบรรดาคู่แข่งขัน ย้อนรอยกลับมาฟ้องร้องต่อศาลได้ อีกทั้งหากพิสูจน์ได้ว่าผลของการกระทำดังกล่าวทำให้หน่วยงานราชการเสียประโยชน์ ประชาชน หน่วยงานราชการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถฟ้อง

 

โดยอาศัยอำนาจตามความใน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นงานถนัดของนักร้องอย่างนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย หรือร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้

 

สร้างบรรทัดฐานใหม่

               

ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดกรณีตัวอย่างให้กับโครงการร่วมทุนอื่นใช้เป็นข้ออ้างขอแก้ไขสัญญา บ้างโดยให้รัฐช่วยเหลือเพิ่มสิทธิประโยชน์ ดังนั้น การร่วมทุนระหว่างรัฐอาจไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งไม่ต่างกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป สอดคล้องนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  การปรับใช้เงินงบประมาณเพื่อลดผลกระทบสถานการณ์โควิด หากรัฐมีเหตุผล สามารถดำเนินการได้

 

รวมพลังตรวจสอบ

               

สำหรับในส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สังคมกังขานับตั้งแต่ ตั้งแต่วันแรกที่มีการประมูล การทำสัญญายืดเยื้อการผ่อนปรนเรื่องการชำระเงิน ของเอกชนคู่สัญญามีความล่าช้า สิ่งเหล่านี้ภาคประชาชน นักวิชาการองค์กรต่างๆต้องทบทวนว่า เป็นความปกติหรือไม่ในทางธุรกิจ ซึ่งวันนี้

 

อยากถามกลับเอกชน ที่ได้รับสัมปทานว่า ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประมูลแค่ไหน  ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่กลับได้รับการเยียวยาตามสถานการณ์โควิด ทั้งที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ จุดนี้อยากให้ทุกคนทบทวนว่า การใช้อำนาจรัฐ ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่

 

เสียโอกาสประชาชนฟ้องได้                               

               

อีกทั้งยังสร้างความล่าช้าให้กับโครงการ แทนที่ประชาชนจะสามารถใช้ประโยชน์รถไฟความเร็วสูงได้เร็วขึ้น กลับล่าช้าลง อีกทั้งยังสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนในพื้นที่เขตอีอีซี ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ซึ่งอาจทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสตามมา อย่างไรก็ตามประชาชน สามารถฟ้องได้ นอกจาก เอกชนผู้แข่งขันเพราะทำให้เสียประโยชน์

               

นายมานะยังตั้งคำถามอีกว่า   ข้ออ้างประเด็น ที่นำไปสู่การแก้สัญญา สมเหตุสมผลหรือไม่, เอกชนรายใหญ่ที่ได้รับสิทธิพิเศษ มีเหตุผลในการร้องขอรัฐและรัฐควรรับฟังหรือไม่, รฟท.ไม่ควรลืม ณ วันประมูล มีการแข่งขันชิงงาน และเป็นการประมูลแบบเปิด แต่วันนี้กลับมาเรียกร้องขอสิทธิพิเศษ

 

ต้องทบทวนว่าเป็นธรรมกับบริษัทอื่นหรือไม่ และต้องทบทวนย้อนหลัง  เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ในการการประมูลงาน, การกระทำ ดังกล่าวส่งผลต่อต้องจัดสรรเงินมาลงทุนก่อน ซึ่งส่งผลให้รัฐเสียเปรียบหรือไม่    

               

อย่างไรก็ตามการประมูลงานควรยึดทีโออาร์เป็นสำคัญเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความไม่เชื่อมั่นของผู้รับเหมาต่างชาติที่อาจมอง หากไม่มีพรรคพวกสนับสนุน จะทำให้เสียประโยชน์ จากความไม่โปร่งใส 

 

บีทีเอสขอดูกฎหมาย

               

“ฐานเศรษฐกิจ”สอบถามบริษัทบีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งจำกัด (มหาชน)  ระบุว่า กรณีหากการแก้สัญญากระทำระหว่างประมูล บริษัทสามารถฟ้องได้ แต่ขอพิจารณาข้อกฎหมายว่าฟ้องได้หรือไม่