เปิด 5 ข้อสรุปประชุม ABAC 2022 มุ่งส่งเสริม Digital Transformation

22 ก.พ. 2565 | 18:52 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2565 | 01:52 น.

เปิด 5 ข้อสรุปประชุม ABAC 2022 มุ่งส่งเสริม Digital Transformation ชี้บริบททางการค้าในภูมิภาคยังคงมีความสำคัญ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ABAC 2022 และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปี 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคนั้น ภาคเอกชนโดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council - ABAC ได้มีการจัดประชุมร่วมกัน

 

ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 1 ประจำปี 2022 ระหว่างวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2565 ณ Resorts World Sentosa Convention Center ประเทศสิงคโปร์ 

 

โดยมีสมาชิกเช้าร่วมอย่างน้อย 300 คน จาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ภายใต้คำกล่าวในการประชุมครั้งนี้ คือ การเปิดรับความท้าทาย ความร่วมมือร่วมใจ

 

และการส่งเสริมโอกาส เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อยืนยันความตั้งใจในการทำงานร่วมกันต่อไปอย่างใกล้ชิด ในภูมิภาคที่มีความซับซ้อน ความสอดประสาน และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ABAC 2022 ขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด EMBRACE ENGAGE ENABLE โดยภาคเอกชนต่างตระหนักดีว่า ขณะนี้เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาส พวกเราสามารถยกระดับการทำงานร่วมกันโดยการ ร่วมมือกันเปิดรับความท้าทาย และขยายข้อจำกัด ให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ABAC 2022
 

อย่างไรก็ดี ระหว่างการประชุมร่วมกันระหว่าง ABAC และเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (SOM) ABAC เน้นย้ำว่า นี่คือวิถีทางที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เป็นภูมิภาคแห่งความเปิดกว้าง มีพลวัต มีความยืดหยุ่น และมีสันติภาพ

 

ตามที่ผู้นำได้เล็งเห็นตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ซึ่งจะได้รับการผลักดันให้บรรลุผลโดยแผนปฏิบัติการเอาทีอารอ (Aotearoa Plan of Action) ที่กำหนดเริ่มดำเนินการในปีนี้ 
 

สำหรับประเด็นที่ ABAC ให้ความสำคัญ นั้น การแพร่ระบาดของ COVID ยังคงดำเนินอยู่และเป็นข้อห่วงกังวลหลัก อย่างไรก็ตามในปีค.ศ. 2022 เป็นโอกาสที่จะเปิดรับความปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) ด้วยการกลับมาเปิดพรมแดนอย่างปลอดภัย  

 

โดยมีการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม มีแนวทางการเดินทางในภูมิภาคที่สอดคล้องกัน ตลอดจนความพยายามในการแก้ปัญหาภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความสามารถในการผลิต และการเจริญเติบโตโดยการส่งเสริมการปฏิรูปโครงสร้าง
 

ในอนาคตบริบททางการค้าในภูมิภาคยังคงมีความสำคัญ ผู้นำเอเปค ได้กำหนดเป้าหมายสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

ซึ่งได้มีการวางรากฐานไว้แล้ว จำเป็นต้องมีการต่อเติมโครงสร้าง โดยต้องคำนึงถึงประเด็นด้าน ความยืดหยุ่น (Resilience) ความยั่งยืน (Sustainability) และความครอบคลุม (Inclusion) ที่ได้เรียนรู้มาจากการระบาดของ COVID 

 

ABAC ต้องการเห็นองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) มีความเข้มแข็งและมีบทบาทที่มากขึ้นจากการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO Ministerial Conference)ในปีนี้
 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดย ABAC จะดำเนินการตาม Climate Leadership Principles ปี ค.ศ. 2021 เพื่อเตรียมรับกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 

 

นอกจากนี้ ABAC จะยังผลักดันการจัดทำแผนการดำเนินงานสำหรับระบบอาหาร (Food System) ที่มีความยั่งยืน การใช้เทคโนโลยี และการเป็นมิตรกับการค้าภายใต้  APEC Food Security Roadmap ฉบับใหม่ 

 

สิ่งที่จะส่งเสริมการดำเนินงานทั้งหมดคือ Digital Transformation โดย ABAC ได้มีการจัดงาน Digital Trade Symposium และจะมีงานด้านดิจิตอลอื่นๆในปีนี้ เทคโนโลยีดิจิทัล (DIGITAL TECHNOLOGY) จะช่วยเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Green Recovery) ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางการค้าและสร้างโอกาสใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต
 

“นับเป็นความท้าทายต่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ตลอดจนผู้ประกอบการผู้หญิง และกลุ่มต่างๆ ที่เสียเปรียบ แม้ MSMEs และกิจการที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของจะมีส่วนแบ่งที่มากที่สุดในภาคธุรกิจและการจ้างงาน แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างหนัก ถ้าสามารถเสริมสร้างความสามารถด้านดิจิตอลและทางเลือกต่างๆก็จะช่วยปลดปล่อยศักยภาพให้ผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม”
 

ABAC สนับสนุนแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีของไทย ที่กล่าวถึงสหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพ APEC ในปีค.ศ. 2023 และเปรูจะเป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ. 2024 ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพอย่างต่อเนื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความตั้งใจของ APEC ในการสร้างอนาคตทีดียิ่งขึ้น
 

ABAC ขอเรียกร้องให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเปิดพรมแดนอย่างปลอดภัย เพื่อช่วยเร่งการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับ MSME ที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการเคลื่อนย้ายของผู้คน
 

ในระหว่างการประชุมในครั้งนี้ มีการประชุมของคณะทำงาน จำนวน 5 คณะ โดยมีข้อสรุปประเด็นสำคัญในการผลักดันในปีนี้  ได้แก่

1. Regional Economic Integration Working Group (REIWG)
   Working Group Chair: Lam Yi Young, ABAC Singapore

  • ข้อตกลง FTAAP
  • สนับสนุนการดำเนินงานขององค์การการค้าโลกตามระบบการค้าพหุภาคี
  • ส่งเสริมการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค
  • การเปิดพรมแดนอย่างปลอดภัยหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

 

2. Digital Working Group (DWG)
  Working Group Chair: Jan De Silva, ABAC Canada

  • ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
  • เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าและความสามารถในการแข่งขัน
  • ขยายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

 

3. MSME and Inclusiveness Working Group (MSMEWG)
  Working Group Chair: Dato Rohana Mahmood, ABAC Malaysia

  • ส่งเสริมระบบดิจิตอลสำหรับ MSMEs
  • ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนสำหรับ MSMEs
  • การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลสำหรับ Supply Chain Finance ของ MSMEs

 

4. Sustainability Working Group (SWG)
   Working Group Chair: Frank Ning Gaoning, ABAC China

  • การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค
  • ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
  • ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร 

 

5. Finance and Economics Working Group (FEWG)
  Working Group Chair: Hiroshi Nakaso, ABAC Japan

  • การพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships – PPPs) สำหรับ Pandemic Risk Financing
  • การเงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในภูมิภาค
  • การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับระบบการเงินดิจิทัล