แจงรถไฟฟ้าสายสีแดงผู้รับเหมาฟ้องรฟท.สัญญา1 สถานีกลางบางซื่อ7,200ล้าน

21 ก.พ. 2565 | 08:46 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2565 | 17:03 น.

กระทรวงคมนาคมชี้แจงกรณีผู้รับเหมาฟ้องรฟท.สัญญา1 ช่วงสถานีกลางบางซื่อ สายสีแดง7,200ล้าน ส.ส.ก้าวไกลอ้าง รถไฟฯยังไม่ขำระเงินกับเอกชนผู้รับจ้างก่อสร้าง กลับมาเปิดศูนย์ฉีดวัคซีน อันเนื่องมาจากการมีวัตถุประสงค์แอบแฝง

ความล่าช้าการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตแม้จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ แต่ยังมีบางปมยังต้องเร่งคลี่คลายโดยเฉพาะผู้รับจ้างในสัญญา1 ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กรณียังไม่ชำระเงินค่าก่อสร้างช่วงสถานีกลางบางซื่อ

 

ประเด็นนี้นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเกี่ยวกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สัญญาที่ 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ) ว่ามีผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้ยื่นฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวน 7,200 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการที่การรถไฟฯยังไม่ขำระเงินกับเอกชนผู้รับจ้างก่อสร้าง แต่มาเปิดศูนย์ฉีดวัคซีน อันเนื่องมาจากการมีวัตถุประสงค์แอบแฝง เพื่อเป็นการสมคบกับเอกชนใช้เป็นเหตุผลยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ 

 

ขณะที่กระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า กรณีการที่เอกชนผู้รับจ้างงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ยื่นฟ้องการรถไฟฯ นั้น เป็นการยื่นฟ้องของเอกชนผู้รับจ้างเพื่อขอให้ ชำระค่างานส่วนสั่งงานเพิ่มเติม หรือ Variation Order ซึ่งเอกชนได้อ้างว่ามีการก่อสร้างตามข้อสั่งการของวิศวกรผู้ควบคุมงาน มาตั้งแต่ปี 2556 เป็นจำนวนหลายรายการ 

 

ในเรื่องดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้รับทราบจากการรถไฟฯ เสนอขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติปรับกรอบวงเงินโครงการ มาตั้งแต่ ปี 2563 และได้พิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบ รัดกุมตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม ตลอดจนสาระสำคัญที่ผูกพันตามสัญญา และได้มอบหมายให้ การรถไฟฯ รับไปทบทวน ข้อเสนอ การเสนอขยายกรอบวงเงินดังกล่าวให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจาก เห็นว่าต้องตรวจสอบในข้อเท็จจริงว่าในขณะที่มีการสั่งงาน VO ดังกล่าว ทางวิศวกรผู้รับผิดชอบได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารการรถไฟฯ หรือไม่ ตลอดจนให้ตรวจสอบการดำเนินการอย่างละเอียด ซึ่งมีรายการประมาณ 194 รายการ เป็นจำนวนมากระหว่างปี 2556 จนถึง 2562

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า แม้ว่ากระบวนการเสนอขอปรับกรอบวงเงินโครงการยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยที่เกี่ยวข้อง แต่อาคารสถานีกลางบางซื่อได้มีการตรวจรับงานในส่วนอาคารสถานีรถไฟ อาคารศูนย์ซ่อมบำรุง เรียบร้อยแล้วในปี 2563  ก่อนการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

 

ในยามที่ประเทศเกิดวิกฤติการณ์โรคระบาด อันเป็นการดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อยังประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง ก่อนการเริ่มเปิดการเดินรถไฟสายสีแดงตามวัตถุประสงค์ของโครงการในเดือน สิงหาคม 2564 จึงไม่เกี่ยวข้องกับการถูกผู้รับเหมาฟ้องในกรณีงาน VO แต่อย่างใด