ครม.จัดเต็ม เห็นชอบเพิ่มวงเงิน "รถไฟสายสีแดง" 3 พันล้าน จ่ายค่าภาษี

01 ก.พ. 2565 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2565 | 21:42 น.

มติครม.ล่าสุด เห็นชอบปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟสายสีแดง จาก 93,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 96,868 ล้านบาท จากภาระภาษี และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมจำนวน 2,917 ล้านบาท

วันที่ 1 ก.พ. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มขึ้นเป็น 96,868 ล้านบาท จากตามมติครม.เดิมที่อนุมัติไว้จำนวน 93,950 ล้านบาท 

 

สำหรับกรอบวงเงินครั้งนี้ เกิดจากภาระภาษีต่างๆ เช่น ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากการเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เป็นแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ ,ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรจากการนำเข้าของโครงการฯสายสีแดง

และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นที่ต้องชำระให้ผู้รับจ้างในส่วนที่เป็นเงินเยนจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมจำนวน 2,917 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 2,011 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 906 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกันครม.ได้อนุมัติให้รฟท.กู้เงินภายในประเทศมาจ่ายค่าอากรนำเข้า (Import Duty) ที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากครม.และมีมูลค่างานระบุไว้ในสัญญาแล้วเป็นจำนวนเงิน 660 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินจำนวน 7,985 ล้านบาท ประกอบด้วยช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 7,078 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ –ตลิ่งชันจำนวน 906 ล้านบาท

ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมพร้อมทั้งค้ำประกันเงินกู้ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติให้แก่รฟท. โดยรัฐบาลรับภาระค่างานโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา และส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักการของมติครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2549  

 

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นในการกู้เงินในส่วนที่รัฐบาลรับภาระต่อไป ส่วนค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาตู้รถไฟฟ้าให้รฟท.เป็นผู้รับภาระ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆของการกู้เงินตามความเหมาะสมและจำเป็น