ไม่จบ “คมนาคม” เปิดสัมมนาค้านต่อสัมปทานสายสีเขียว ลดค่าโดยสาร 25 บาท

19 ก.พ. 2565 | 14:21 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2565 | 21:29 น.

มท.ถกกทม.แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังแบกหนี้ 1.2 แสนล้านบาท ด้านคมนาคมลุยเจรจาค่าโดยสารราคาถูกแก้หนี้ หวั่นเกิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ฟากก้าวไกลค้านต่อสัมปทานเอื้อนายทุน ขณะที่สภาฯผู้บริโภค ยืนกรานค่าโดยสาร 25 บาท ทำได้

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สำหรับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ที่ผ่านมาปี 2534-2535 พบว่ามีสัญญา 1 ฉบับโดยมีการรับรองจากปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ลงนามสัญญาในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการเปิดเดินรถไฟฟ้าในปี 2542 ขณะเดียวกันในการนำเสนอเรื่องใดๆเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการแทนกทม. เนื่องจากกทม.เป็นหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่สามารถเสนอเองได้

 

 

สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยกทม.เป็นผู้ลงทุนและกระทรวงมหาดไทยได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาทั้ง2 ช่วงดังกล่าวการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทสไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยภาครัฐเล็งเห็นว่าการให้บริการรถไฟฟ้าแต่ละสายไม่เชื่อมต่อระหว่างกันเป็นไปได้หรือไม่ ประชาชนจะเดินทางสะดวกอย่างไร ทำให้รัฐบาลได้มอบหมายให้รฟม.ดำเนินการรับผิดชอบเรื่องนี้ แบ่งเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบเดินรถให้กทม.เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่เมื่อมีการดำเนินการโอนให้กับกทม.กลับมีหนี้เพิ่มอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยภาครัฐมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาเรื่องดังกล่าว เพื่อให้กทม.สามารถเดินรถได้

 

 

 “ทางกระทรวงได้รับฟังความเห็นหลายภาคส่วน เช่น ให้กทม.เสนอลดค่าโดยสาร ซึ่งกทม.ตอบกลับว่าหากไม่มีหนี้ก็สามารถดำเนินการได้ หากมีหนี้และต้องลดค่าโดยสารด้วย กทม.จะอยู่ได้อย่างไร ทั้งนี้เมื่อดูข้อบัญญัติของกทม.พบว่า กทม.มีงบประมาณอยู่ที่ 80,000 ล้านบาทต่อปี โดยกำหนดว่าห้ามชำระเงินเดือนค่าตอบแทนเกิน 40% เมื่อหักค่าบริหารจัดการแล้วจะมีงบประมาณเหลือ 30,000 ล้านบาท หากกทม.นำงบประมาณดังกล่าวไปชำระหนี้ทุกๆปี จะทำให้บริการสาธารณะอื่นๆได้รับผลกระทบไปด้วย”

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการตรวจสอบหากมีการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ควรใช้เกณฑ์ MRT Assesment Standardization คือ ค่าแรกเข้า 12 บาท+2 บาทต่อกม.หรือสถานี พบว่า ผู้โดยสารเดินทางไม่เกิน 14 กิโลเมตร (กม.)ต่อวัน อยู่ที่ 70% ค่าโดยสาร อยู่ที่ 40 บาท ผู้โดยสารเดินทางระหว่าง 14-25 กิโลเมตรต่อวัน (กม.) อยู่ที่ 28.5% ค่าโดยสาร อยู่ที่ 40-42 บาทและผู้โดยสารเดินทางไกลกว่า 25 กิโลเมตร (กม.) อยู่ที่ 1.5% ค่าโดยสาร อยู่ที่ 42 บาท ขณะเดียวกันจากการศึกษาของกทม.ระบุว่า หากภาครัฐดำเนินการโครงการฯเองระหว่างปี 2562-2602 จะมีรายได้ให้กับภาครัฐ อยู่ที่ 1.57 ล้านล้านบาท ขณะที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ อยู่ที่ 4.35 แสนล้านบาท

 

 

 “ทางกระทรวงมีความกังวลถึงค่าโดยสารที่มีราคาแพงและพยายามที่จะเจรจาพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดปัญหาค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน อย่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ทางกระทรวงได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับเอกชนในการไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ซึ่งดำเนินการได้สำเร็จ แต่แปลกใจคณะกรรมการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด ซึ่งเราควรเจรจาเรื่องดังกล่าวให้จบ ซึ่งจะเป็นโอกาสเดียวที่จะช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้”

 

 

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เราไม่เห็นด้วยที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หากมีการเสนอต่อสัญญาจะทำให้เราเสียสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าแบบไม่ชอบธรรม ซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทที่จะประเคนให้กับนายทุนใหญ่ เนื่องจากรถไฟฟ้าสายดังกล่าวมีการใช้ระบบใหญ่ที่ลากออกไปยาวเกินความจำเป็น ซึ่งมีความจุอยู่ที่ 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ทำให้ไม่คุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจและทางการเงิน เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง โดยปัจจุบันส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ทางกทม.เป็นผู้ใช้งบประมาณอุดหนุน ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทำให้กทม.อุดหนุนงบประมาณไม่ไหว เพราะขาดทุนหนัก

 นางสาวสารี  อ่องสมหวัง เลขาสภาองค์กรผู้บริโภค (TCC) กล่าวว่า ทางสภาฯเล็งเห็นว่าการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวคือการชะลอการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเอกชนก็ไม่ได้เสียสิทธิ์ในการต่อสัญญาสัมปทานฯ เพราะมีระยะเวลาดำเนินการอีกหลายปี ที่จะขออนุญาตต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าฯ หากไม่เร่งดำเนินการจะทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการจัดการระบบรถไฟฟ้าภายในประเทศ ทั้งนี้การต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าถือเป็นการสร้างภาระล่วงหน้ากับประชาชนรุ่นใหม่

 

 

“เรามั่นใจว่าหากมีการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถดำเนินการได้จริง โดยใช้สมมุติฐานของกทม.ในกรณีที่จัดเก็บค่าโดยสารราคา 65 บาท ทำให้มีรายได้ 597,566 ล้านบาท ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมแนะนำให้จัดเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 49 บาท ทำให้มีรายได้ 380,200 ล้านบาท หากมีการจัดเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 25 บาท จะทำให้มีรายได้ 23,200 ล้านบาท ทั้งนี้จากต้นทุนค่าโดยสารต่อเที่ยวของระบบบีทีเอส  พบว่าต้นทุนเฉลี่ยต่อเที่ยวโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 15.7 บาท ทำให้สภาฯยืนยันว่าราคา 25 บาท สามารถดำเนินการได้”