เร่งปิดดีลสร้าง “ทางด่วนพระราม 3” วงเงิน 3 หมื่นล้าน

20 ม.ค. 2565 | 20:10 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2565 | 03:17 น.

กทพ.เดินหน้าสร้างทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง ดึงเอกชนเข้าพื้นที่ลุยตอกเสาเข็ม 10 ม.ค.ที่ผ่านมา เร่งก่อสร้างเสร็จ 34 เดือน ขณะที่สัญญา 5 งานระบบเก็บค่าผ่านทาง-คุมจราจร เตรียมปรับปรุงทีโออาร์ใช้ระบบ M-Flow คาดเปิดประมูลกลางปี 65

กทพ.ได้ฤกษ์ก่อสร้างทางด่วน สายพระราม3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ทั้งสัญญา 1 และสัญญา 3 เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังมีการล้มประมูลจ้างก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาเหล็กพุ่งสูง กระทบราคากลางดีดตัวขึ้น 3%

 

 

 

 

นายสุรเชษฐ์  เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทาพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางด่วน สายพระราม3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7  กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนราว 30,000 ล้านบาท หลังจากกทพ.ลงนามสัญญาร่วมกับผู้รับจ้างที่ชนะการประมูลในสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ แยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2  และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร โรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง นั้น ปัจจุบันกทพ.ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) เพื่อให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เบื้องต้นทั้ง 2 สัญญามีระยะเวลาการก่อสร้างเหลือ 34 เดือน จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 39 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2567 

 

 

 

“โครงการทางด่วนพระราม 3 เป็นการก่อสร้างทั้ง 4 สัญญา และงานระบบ1 สัญญา เป็นแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างกันหากจะเปิดให้บริการก็ควรเปิดให้บริการตามสัญญาในเวลาใกล้เคียงกันเพื่อไม่ให้เกิดการจราจรติดขัดสะสมบนถนน ซึ่งเราจะพยายามเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างให้ทันตามแผนที่วางไว้”
 

นายสุรเชษฐ์  กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร เซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 และสัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานขึงขนาด ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้างทั้ง 2 สัญญาถือว่าเร็วกว่าแผนที่วางไว้เล็กน้อย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาติดปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้งานก่อสร้างคืบหน้าไม่มาก ระยะเวลาการก่อสร้าง 39 เดือน ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ทั้งนี้หากโครงการฯดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จครบทุกสัญญาจะเปิดให้บริการในรูปแบบระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น (M-Flow) 

 

 

 

ขณะที่สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร ปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ในรูปแบบระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น (M-Flow) เนื่องจากในร่างสัญญาฉบับเดิมใช้รูปแบบการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้กลางปี 2565 และได้ตัวผู้รับจ้างชนะการประมูลภายในปลายปี 2565  

 

 

 

สำหรับโครงการก่อสร้างทางด่วน สายพระราม3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ แยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2  ( กม. 13+000 -กม.6+630 ) ระยะทางรวม 6.369 กิโลเมตร (กม.) มีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น - ซีซี ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง  

สัญญาที่ 2  งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ตั้งแต่ กม.6+600 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร (กม.) มีกิจการร่วมค้าซีทีบี (บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปานี ลิมิเต็ด, บริษัท ทิพากร จำกัด  และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด) เป็นผู้รับจ้าง ผลงาน ณ เดือนธันวาคม 2564 มีความคืบหน้า  25.70% เร็วกว่าแผน 0.20% แผนงานสะสม 25.50 %  

 

 

 

สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง (ก่อสร้างคร่อมไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณ ระยะทาง 5 กิโลเมตร (กม.) มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี เป็นผู้รับจ้าง 

 

เร่งปิดดีลสร้าง “ทางด่วนพระราม 3” วงเงิน 3 หมื่นล้าน


 สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร ช่วงสะพานยาว 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้รับจ้างผลงาน ณ เดือน ธันวาคม 2564 มีความคืบหน้า 61.15 % เร็วกว่าแผน 0.15% แผนงานสะสม 61.30%   

 

 

 

สำหรับโครงการทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกฯด้านตะวันตก มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร อยู่บริเวณเกาะกลางถนนพระราม2 ไปจนถึงแยกต่างระดับบางขุนเทียน และจะมีการก่อสร้างก่อสร้างสะพานขึง (Cable-Stayed Bridge) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร คู่กับสะพานเดิม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 ในชั่วโมงเร่งด่วนและในวันหยุดช่วงเทศกาลต่าง ๆ อีกทั้งเป็นเส้นทางสัญจรลงสู่ภาคใต้