FTA ดันไทยส่งออกโปรตีนจากพืชพุ่ง 64% หลัง เทรนด์รักสุขภาพมาแรงในปี65

18 ม.ค. 2565 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2565 | 22:24 น.

FTA ดันไทยส่งออกโปรตีนจากพืชพุ่ง 64%   หลัง เทรนด์รักสุขภาพมาแรงในปี65   อาเซียนตลาดดาวรุ่งส่งออกสูงถึง 43% คาดปีนี้ตลาดจะขยายตัวสูงขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าอาหารกลุ่มโปรตีนจากพืช (plant-based products) โดยผ่านกรรมวิธีแปรรูปให้มีลักษณะแบบเดียวกับเนื้อสัตว์ ถือเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากกระแสการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ตลาดสินค้าโปรตีนจากพืชจะขยายตัวสูงกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป สำหรับไทยส่งออกสินค้าอาหารกลุ่มโปรตีนจากพืชอันดับที่ 25 ของโลก และอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

FTA ดันไทยส่งออกโปรตีนจากพืชพุ่ง 64%  หลัง เทรนด์รักสุขภาพมาแรงในปี65

สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2564 ไทยส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืช มูลค่า 2.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกไปหลายประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เช่น อาเซียน ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (+43%) อาทิ เมียนมา (+82%) สิงคโปร์ (+195%) และสปป.ลาว (+969%) จีน (+27%) และออสเตรเลีย (+502%) นอกจากนี้ ไทยยังส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืชไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 1.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 64% ของการส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืชทั้งหมด

 

“ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับคู่ค้า 18 ประเทศ เพื่อขยายการส่งออกสินค้าและเพิ่มข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยปัจจุบันคู่ค้า FTA 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าโปรตีนจากพืชของไทยแล้ว ยกเว้นอีก 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ยังคงเก็บภาษีนำเข้าเต้าหู้ที่ภาษีอัตรา 5% และญี่ปุ่น ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าโปรตีนจากพืชกลุ่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลที่อัตรา 16.8 - 21% นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงฯ ฉบับล่าสุดของไทย จะมีผลบังคับให้เกาหลีใต้ทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าเต้าหู้ให้ไทยจนเหลือศูนย์ภายในปี 2579 อีกด้วย”

ทั้งนี้ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยจะต้องติดตามและปรับตัวให้เท่าทันกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ที่ปัจจุบันนิยมอาหารโปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชให้หลากหลาย อาทิ รูปลักษณ์หรือรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์ ประโยชน์ต่อสุขภาพ โปรตีนสูงและให้พลังงานต่ำ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของเกษตรกรในการช่องทางใหม่ๆ สำหรับเพาะปลูกพืชที่ให้โปรตีนสูงประเภทถั่วหรือเห็ด มาป้อนอุตสาหกรรมแปรรูปโปรตีนจากพืชให้ตรงตามความต้องการของตลาด