กรมปศุสัตว์ เร่งวิจัย วัคซีน ป้องกัน ระบาดเชื้อ ASF ในหมู

15 ม.ค. 2565 | 17:31 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 22:13 น.

กรมปศุสัตว์ เร่งวิจัยวัคซีนป้องกัน ระบาดเชื้อ ASF ในหมู หัวใจ สำคัญที่สุดในการป้องกันโรค ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

 

จากการระบาด เชื้อ ASF ในสุกรหรือโรคอหิวา หมู สร้างผลกระทบในวงกว้าง น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยวัคซีนซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถป้องกันโรค ASF ในสุกรร่วมกันกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอย้ำว่าไม่สามารถกันการติดเชื้อหรือทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ ASF ในสุกรได้ตามที่มีการนำเสนอตามสื่อออนไลน์

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคคือการเลี้ยงในระบบที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก ในการกลับมาสู่อุตสาหกรรมการผลิตสุกรรอบใหม่ภายใต้การผลิตในระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เหมาะสม

กรมปศุสัตว์พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาดการเลี้ยง ทั้งรายย่อย รายเล็ก รายกลางและรายใหญ่ สามารถนำสุกรเข้าเลี้ยงในฟาร์มได้ โดยต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงระดับฟาร์ม ปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบการเลี้ยงที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งสามารถป้องกันโรค ASF ในสุกรและโรคระบาดอื่นๆ ในสุกรได้อีกด้วย

โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อป้องกันความเสี่ยงและความเสียหายจากโรคระบาดในสุกร เนื่องจากปัจจุบันโรค ASF ในสุกรยังไม่มีวัคซีนและการใช้ยารักษาที่จำเพาะ สิ่งที่สำคัญในการลดความเสียหายและป้องกันโรคเข้าฟาร์มได้คือ ต้องมีระบบการป้องกันภายในฟาร์มสุกรที่ดี เช่น

 

 

ไม่นำเศษอาหารมาเลี้ยงสุกร การอาบน้ำเปลี่ยนชุดเข้าฟาร์มของพนักงาน การพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่ง การล้างพ่นยาฆ่าเชื้อโรงเรือน การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ ยาฆ่าเชื้อที่สามารถฆ่าเชื้อ ASF ในสุกรได้นั้น ตามอัตราส่วนที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำหรือโดยทั่วไปจะใช้ที่ 1:200 เช่น Glutaraldehyde, Phenol, Iodine, Chlorine เป็นต้น