ระนองขับเคลื่อน‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง’ ด้วย BCG Model

14 ม.ค. 2565 | 10:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2565 | 17:58 น.

ผู้ว่าฯ ระนองลงนามตั้งกก.ขับเคลื่อน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง(SEDZ)ระดับจังหวัด ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) เพื่อขจัดความจน พัฒนาคนยั่งยืน และรับมือภัยพิบัติ ภาครัฐจะสนับสนุนทรัพยากร สร้างงานประชาสังคม ดึงสถาบันการศึกษาเติมองค์ความรู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองได้ลงนาม ในหนังสือด่วนที่สุดที่ รน 0017.2/ ว 92 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่จังหวัดระนอง โดยมีสาระสำคัญว่า
    

สืบเนื่องจากกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งที่ 3176/2564  ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2564 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEADZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (Bio-Circular- Green Economy Model) โดยให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEADZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ระดับจังหวัด

นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง

ระนองขับเคลื่อน‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง’ ด้วย BCG Model

กรรมการชุดนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่าน เป็นรองประธานกรรมการ และหัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการ ขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEADZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบในระดับพื้นที่

 

เพื่อให้การขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEADZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ในระดับพื้นที่ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ทางจังหวัดจึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง(SEADZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ จังหวัดระนอง ตามคำสั่งจังหวัดระนองที่ 43/2565 ลงวันที่ 7 ม.ค. 2565

ทั้งนี้ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEDZ นี้ เป็นแนว ทางที่ภาครัฐสนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์พื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่จำเป็น ผ่านกระบวน การมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ด้วยการดึงภาควิชาการมาร่วมพัฒนา และยกระดับศักยภาพตัวบุคคล ต่อยอดด้วย งานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสม

 

รวมทั้งมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการ วางแผน พัฒนา และต่อยอดผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซํ้าซาก โดยใช้โอกาสจากภาค แรงงานที่มีทักษะและศักยภาพ ที่ประสบปัญหาว่างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และกลับไปยังบ้านเกิด มาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย

 

ด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการศึกษารากเหง้า ภูมิ ปัญญาดั้งเดิม เพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม ยกระดับเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่”

 

การขับเคลื่อนในพื้นที่จะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน/ตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ผ่านแนวทางระบบเกษตรสองขา “พอเพียง แบ่งปัน แข่งขันได้” โดยใช้รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินการผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วน

 

เพื่อพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายตามบริบทของพื้นที่ที่กำหนดร่วมกัน และส่งผลต่อการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มพื้นที่จัดเก็บคาร์บอนและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม เป็นการนำการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกต่อไป

 

“Sufficiency Economy Development Zones for Sustainable Development Goals (SEDZ for SDGs)” เป็นการดำเนินงานตามถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง

 

เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 ในเวทีประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา 

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,749 วันที่ 16-19 มกราคม พ.ศ.2565