หอการค้า-สภาอุตฯสั่งลุย RCEP 3 หมื่นรายการภาษี 0% ดันส่งออกไทยโต-ลงทุนพุ่ง

08 ม.ค. 2565 | 10:52 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2565 | 18:10 น.

หอการค้าฯ-สภาอุตฯ-สรท.ปลุกสมาชิกใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP หลังมีผลบังคับใช้ จี้สมาคมการค้า/กลุ่มอุตสาหกรรมเจาะลึกการลดภาษี 14 ประเทศ ชี้ช่องสมาชิกส่งสินค้ารุกตลาด รับภาษี 0% เกือบ 3 หมื่นรายการ ผลพลอยได้ดึง FDI เข้าไทยเพิ่ม สรท.มั่นใจ ช่วยดันส่งออกปีนี้โต 8%

 

ดีเดย์ 1 ม.ค.2565 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ-ระดับภูมิภาค (RCEP /อาร์เซ็ปต์) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรี(FTA)ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยสมาชิก 15 ประเทศประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา บรูไน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีข้อตกลงสำคัญส่วนหนึ่งคือ สมาชิกจะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ทันทีสำหรับสินค้าไทย 29,891 รายการ (จาก 39,366 รายการ) ส่วนอีก 9,475 รายการ จะทยอยลดภาษีภายใน 10-20 ปี ขณะที่ไทยต้องเปิดตลาดและลดภาษีสินค้าให้ประเทศสมาชิกเป็น 0% หรือทยอยลดภาษีในสินค้าอ่อนไหวมากขึ้นเช่นกัน

 

หอการค้า-สภาอุตฯสั่งลุย RCEP 3 หมื่นรายการภาษี 0% ดันส่งออกไทยโต-ลงทุนพุ่ง

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า RCEP ที่มีผลบังคับใช้จะเป็นโอกาสของภาคการผลิตและส่งออกไทยที่จะขยายตลาดภายในกลุ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นโอกาสในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เข้าไทยเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ที่วัตถุดิบจาก 15 ประเทศสมาชิก สามารถนำเข้ามาผลิตและส่งออกภายในกลุ่มเพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงได้อย่างกว้างขวางขึ้น

 

 นอกจากนี้ในส่วนของมาตรการทางการค้า (NTMs) ที่ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เคยนำมาใช้ และกลายเป็นเครื่องมือกีดกันการค้า (NTBs) ระหว่างกัน ภายใต้กรอบของ RCEP นี้จะสามารถเจรจากันในภาพใหญ่ 15 ประเทศได้มากขึ้น และสุดท้ายอาจกลายเป็นข้อตกลงใหม่ร่วมกัน เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย มาตรการด้านเทคนิคต่าง ๆ จะช่วยลดอุปสรรคการเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิกได้มากขึ้น

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

 

 “สินค้าเกือบ 3 หมื่นรายการภายใต้ RCEP จะลดภาษีเป็น 0% ทันที ตรงนี้ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย จากนี้เป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยย่อยของสมาคมการค้า และกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องไปเจาะลึกในรายละเอียดและแจ้งสมาชิกว่ามีสินค้าใดบ้างที่ประเทศสมาชิกได้ลดภาษีเป็น 0% แล้ว หรือลดภาษีให้มากกว่าเดิม เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวในการส่งออกเพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า และเพิ่มฐานลูกค้าใหม่”

 

อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีการค้าภายใต้ RCEP อีกด้านเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการที่ทำตลาดในประเทศ เพราะจะมีสินค้าจากประเทศสมาชิก เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากจีนจะทะลักเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ส่วนหนึ่งใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีน เชื่อมส่งสินค้ามาไทยเพิ่มขึ้น จากที่เวลานี้สินค้าจีนก็ทะลักเข้าไทยมากขึ้นอยู่แล้ว ทั้งช่องทางการค้าช่องทางปกติ มาแบบลักลอบ และผ่านช่องทางค้าออนไลน์ ดังนั้นไทยต้องเร่งเรื่องมาตรฐานสินค้าให้สูงขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในประเทศยังคงใช้สินค้าไทย และยังใช้มาตรฐานนี้บล็อกสินค้านำเข้าได้ด้วย

 

ขณะที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประทศไทย (สรท.) ได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทยใช้ความตกลง RCEP ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ โดย สรท.เชื่อมั่นว่าในปีนี้การค้าไทยกับกลุ่ม RCEP จะมีส่วนสำคัญทำให้การส่งออกไทยในภาพรวมขยายตัวได้ 5-8% นอกจากนี้เชื่อว่าความตกลง RCEP จะช่วยดึงการลงทุนต่างชาติเข้าไทยได้เพิ่มขึ้นเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP ในการส่งออก เฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน)ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ เช่น อาหาร, ยางพาราและผลิตภัณฑ์, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก, ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ช่วยให้ต้นทุนลดลง และช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออก

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

“นอกจากนี้ข้อดีของ RCEP ในส่วนของผู้บริโภคไทย จะมีสินค้าจากประเทศสมาชิกให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ในราคาที่ถูกลงตามกฎอุปสงค์และอุปทาน แต่ข้อเสียของ RCEP คือผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในประเทศจะมีคู่แข่งขันในการทำธุรกิจมากขึ้น เกิดการแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือดขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้อยู่รอด และสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เทียบเท่า หรือดีกว่าสินค้านำเข้า และแสวงหาตลาดในประเทศสมาชิกด้วย เป็นต้น”

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากบทวิเคราะห์ของ Glo-bal Development Policy Center มหาวิทยาลัยบอสตันพบว่า หลัง RCEP มีผลบังคับใช้ ทุกประเทศในอาเซียนจะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น จากจะมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น โดยการนำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีน ขณะที่จีนจะมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีเพิ่มขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ 3 ประเทศนี้ไม่มี FTA ระหว่างกัน ดังนั้น RCEP จึงเป็นครั้งแรกที่ 3 ประเทศนี้มี FTA ด้วยกัน

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3747 วันที่ 9-12 มกราคม 2565