เริ่มแล้ว RCEP เขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร

02 ม.ค. 2565 | 06:40 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2565 | 13:53 น.
3.4 k

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP หรือ (Regional Comprehensive Economic Partnership) เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ร่วมก่อตั้ง มีผลบังคับใช้พร้อมกับศักราชใหม่ 1 ม.ค. 2565

RCEP เริ่มมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ข้อกำหนดเบื้องต้น ระบุว่า เมื่อสมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้สัตยาบันแล้ว ความตกลงจะมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ตั้งแต่ 1 ม.ค. นี้ RCEP จึงมีผลบังคับใช้กับชาติสมาชิก ซึ่งได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์, ไทย, เวียดนาม, ออสเตรเลีย, จีน, ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์

 

ส่วนประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ เมียนมา ซึ่งคาดว่าอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการและจะให้สัตยาบันได้ในเร็ววัน

 

สำนักข่าวบีบีซีอ้างอิงเว็บไซต์ข่าวเซาท์ ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ระบุว่า เกาหลีใต้จะเข้าร่วมตั้งแต่ 1 ก.พ. นี้

 

ความสำคัญของ RCEP

ข้อมูลของ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กลายเป็นเขตการค้าขนาดใหญ่ ดังนี้ คือ

  • มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก)
  • GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก)
  • มูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)

สำหรับ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP อาทิ สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ

 

ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิ สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลงฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสมาชิก RCEP จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งก่อนที่ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 นั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ควรเร่งเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่าง ๆ ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด RCEP อย่างเต็มที่

เช็คเลยสินค้ารายการไหนส่งออก ภาษีเป็น 0%

หลังจาก RCEP มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 65 ส่งผลให้สินค้าไทยได้ลดภาษีเหลือ 0% ทันทีกว่า 2.9 หมื่นรายการ  ซึ่งสินค้าที่ประเทศสมาชิก RCEP  (non ASEAN)ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ที่ยกเลิกภาษีนำเข้าให้ไทยและอาเซียนในทันทีที่ความตกลงมีผล (ณ วันที่ 1 มกราคม 2565) นั้น ได้แก่

 

จีน ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า มีสินค้า 67.3% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม เช่น วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบอุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ ไม้ ส่วนประกอบเครื่องโทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เม็ดพลาสติก (โพลิโพรพิลีน)

 

เกาหลีใต้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร  ซึ่ง 61.5% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องซักผ้า ตู้เย็นและส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สำหรับถ่ายรูป เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้และรับสัญญาณ ชิ้นส่วนอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ฟิวส์ หม้อแปลงไฟฟ้า ผ้าทอทำด้วยฝ้ายและใยประดิษฐ์ น้ำตาล

 

ญี่ปุ่น 73% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที  เป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร   ประกอบด้วย เครื่องโทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องพิมพ์ เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่ายภาพและวิดีโอ ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับเครื่องรับสัญญาณและโทรทัศน์ ประตูหน้าต่างอะลูมิเนียม ชุดสายไฟ ยางแผ่นรมควัน อาหารสุนัขหรือแมว

 

นิวซีแลนด์ 64.6% ของรายการสินค้าทั้งหมด ที่ยกเลิกภาษีทันที เป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร  ไม่ว่าจะเป็น ยางล้อรถยนต์ ปลาทูนากระป๋อง อาหารเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปิโตรเลียมอื่นๆ แชมพู เครื่องแต่งกายและของประกอบกับเครื่องแต่งกายอื่นๆ (รวมถึงถุงมือ) ซึ่งทำจากยางวัลแคไนซ์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายใน หม้อสะสมไฟฟ้า ลวดและเคเบิล เก้าอี้นั่งทำด้วยไม้

 

ออสเตรเลีย 75.3% ของรายการสินค้าทั้งหมด ที่ยกเลิกภาษีทันที่  เป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร  ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ปลาทูนากระป๋อง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องประดับเงินและโลหะมีค่าอื่นๆ ยางล้อรถยนต์/รถบัส/รถบรรทุก กระสอบถุงพลาสติก อาหารปรุงแต่ง อุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ เครื่องสำอางค์ สบู่ แชมพู น้ำผลไม้

  เริ่มแล้ว RCEP เขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร

ในมุมมองภาคธุรกิจ/ประโยชน์เชิงลงทุน

บทวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ระบุว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าครั้งนี้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 โดยผลบวกทางตรงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ในตลาดจีนและเกาหลีใต้ ในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากอยู่แล้ว ขณะที่ผลบวกทางอ้อมมาจากการเปิดเสรีการค้าหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 อยู่ในกลุ่มที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์/ชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

ในเชิงการลงทุน RCEP เป็นเครื่องมือหนึ่งสำคัญที่ช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย ด้วยจุดเด่นที่เป็นฐานการผลิตครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ครอบคลุมทั้ง 15 ประเทศทำให้การลงทุนในภูมิภาคน่าสนใจมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต RCEP ยังมีโอกาสได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนในอนาคตต่อยอดการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่างฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ไอซี การประกอบวงจรพิมพ์ ยานยนต์ แต่โจทย์สำคัญหลังจากนี้คือการดึงดูดเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) กลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักที่จะช่วยยกระดับโครงสร้างการผลิตของไทยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve

 

อย่างไรก็ตาม การดึงดูด FDI ของไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ใน RCEP จึงมีโอกาสคว้าการลงทุนได้เหมือนไทย ดังนั้น ความพร้อมด้านการลงทุนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญในการตัดสินใจลงทุน นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือพัฒนาให้เกิดขึ้นมาจึงจะทำให้ไทยมีแรงดึงดูดการลงทุนได้เหนือคู่แข่ง ทั้งการจัดทำ FTA กับประเทศสำคัญที่เป็นตลาดเป้าหมาย การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เป็นตัวช่วยเสริมให้ธุรกิจมีความคล่องตัว การเตรียมความพร้อมรองรับกระแส ESG ตลอดจนการผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุน