ลดค่าไฟ 22 สตางค์/หน่วย กพช. ดึงเงิน Take or Pay ก๊าซฯเมียนมา1.35หมื่นล.ช่วย

06 ม.ค. 2565 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2565 | 23:01 น.
649

กพช. ลดค่าไฟ 22 สตางค์ต่อหน่วย ดึงเงิน Take or Pay ก๊าซฯเมียนมา1.35หมื่นล.ช่วยประขาขน บรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ระบุมอบ กกพ. เป็นผู้ดำเนินการ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา

โดยให้นําเงินผลประโยชน์ของบัญชี Take or Pay ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จํานวน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมดไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือเอฟที (Ft) 

โดยนําส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันในปี 2565 เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน โดยให้เกิดความมั่นคงและไม่ขาดแคลน ซึ่งเบื้องต้น กพช.เห็นชอบเงินจัดสรรบัญชีผลประโยชน์ Take or Pay แหล่งก๊าซจากเมียนมา 1.35 หมื่นล้านบาทจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้หากลดทันทีจะคิดเป็น 22 สตางค์ต่อหน่วย"

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) สำหรับสัญญาระยะยาวและ/หรือสัญญาระยะกลาง ได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 

  1. สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาน้ำมัน (Oil linked linear formula) 
  2. สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ (Gas linked linear formula) 

และ 3.สมการในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และมีจุดหักมุม (Hybrid oil gas linked formula with a kink point) โดยจะนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาในรายละเอียดของหลักเกณฑ์ราคา LNG Benchmark สำหรับกลุ่ม Regulated Market ต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้งานการตอบสนองด้านโหลดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และสามารถนำการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response: DR) มาทดแทนโรงไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทย ในระยะปานกลาง ปี 2565 – 2574 

รวมถึงรองรับพลังงงานหมุนเวียนตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ ที่ประชุม กพช. จึงมีมติเห็นชอบโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดปี 2565 - 2566 50 เมกะวัตต์

ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กกพ. กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลตามแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 - 2574 ต่อไป