รัฐบาลเคาะ 4 มาตรการเร่งรัดส่วนราชการ เร่งเบิกจ่ายงบปี 65 กระตุ้น ศก.

25 ธ.ค. 2564 | 15:32 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2564 | 22:40 น.

รัฐบาลเคาะ 4 มาตรการเร่งรัดส่วนราชการ เจ้าของโครงการ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ รัฐวิสาหกิจ เบิกจ่ายงบปี 2565 ให้การใช้จ่ายและลงทุนรัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนของโควิด-19

วันที่ 25 ธ.ค. 64  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า จากที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และส่วนของประเทศไทยรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ได้ให้แนวนโยบายกับทุกกระทรวงและหน่วยงานรัฐว่าการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจประเทศในช่วงที่ยังมีความไม่แน่ใจจากสถานการณ์โรคระบาด 

รัฐบาลเคาะ 4 มาตรการเร่งรัดส่วนราชการ เร่งเบิกจ่ายงบปี 65 กระตุ้น ศก.

ล่าสุด คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ กระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้กระทรวง หน่วยรับงบประมาณ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ถือปฏิบัติ 

 

นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามมาตรการของคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ กระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้งบประมาณรัฐเป็นเครื่องมือดูแลเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอน และช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  มาตรการที่คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณฯ เสนอมี 4 ข้อ ประกอบด้วย 

 

1.กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐปี 2565 โดยมีเป้าหมายการเบิกจ่ายภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ93  การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 การเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 

 

2.เพื่อเร่งรัดให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการโดยเร็ว ให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการตามแนวทางของสำนักงบประมาณ เรื่อง การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และการอนุมัติเงินจัดสรรงปบระมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยเคร่งครัด 

 

สำหรับส่วนราชการและหน่วยงานที่มีเงินกันไว้เหลื่อมปีให้เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกันไว้เหลื่อมปีโดยเร็ว กรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้ก่อหน้าผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงปบระมาณและไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากคลังได้ทันภายในปีงบประมาณ ให้ขยายเวลาขอเบิกเงินจากคลังได้อีกไม่เกิน 6 เดือนของปีงบประมาณถัดไป เว้นแต่มีความจำเป็นต้องเบิกเงินจากคลังภายหลังเวลาดังกล่าว ขอให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเพื่อขยายเวลาออกไปอีกไม่เกิน 6 เดือน 

 

3.รัฐวิสาหกิจต้องเบิกจ่ายงบลงทุนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงบลงทุนระหว่างปี 2565 ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรก และปรับปรุงแผนการลงทุนให้สามารถเบิกจ่ายได้เร็วขึ้นในช่วงไตรมาสที่1 และ 2 ของปี (Front-Loaded) รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดกำกับและติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าด้วย 

 

4.การเบิกจ่ายเงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท) ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ เร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. สำหรับโครงการที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) เห็นชอบให้ยกเลิก ควรเร่งคืนกรอบวงเงินที่เหลือจ่ายให้กระทรวงการคลังสรุปกรอบวงเงินคงเหลือและนำมาบริหารจัดการเงินกู้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป