‘คลัง’มั่นใจปี 64 เบิกจ่ายงบไม่ต่ำกว่า 95%

12 ก.ย. 2564 | 08:24 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2564 | 15:24 น.

กรมบัญชีกลางยอมรับ โควิดระบาดกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณปี 64 ล่าช้า โดยเฉพาะงบจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมกำชับหน่วยงานเร่งเบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพัน มั่นใจสิ้นปีงบฯ 64 เบิกจ่ายได้ตามเป้าไม่ต่ำกว่า 95%

การประกาศปิดสถานที่ก่อสร้างและมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อโครงการและแผนงานลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากบุคลากรไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างหรือตรวจรับงานได้ รวมถึงขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้

 

ทั้งนี้ีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีการประมาณการมูลค่าผลกระทบถึงสิ้นปี 2564 ประมาณ 23,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของมูลค่ากรอบลงทุนปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผลกระทบจากการประกาศปิดสถานที่ก่อสร้าง

 

อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เช่น การประสานหน่วยงานภาครัฐเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง โดยมีมาตรการที่รัดกุมรองรับ การหาแรงงานและวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ทดแทน รวมทั้ง เร่งรัดงานอื่นมาดำเนินการทดแทน เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป

ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ทั้งในส่วนของงบประมาณประจำและงบลงทุน มั่นใจว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะสามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 95% ของวงเงินงบประมาณ 3,285,962.48 ล้านบาทอย่างแน่นอน

นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง

ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมบัญชีกลาง ได้ส่งหนังสือไปยังหน่วยงานรัฐเพื่อเร่งรัดให้เบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผน รวมทั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งของรัฐวิสาหกิจ ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อรับทราบข้อปัญหาและแก้ไขข้อติดขัดร่วมกัน

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2564 มีความล่าช้าและติดขัดบ้าง เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้บางโครงการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาของสัญญา

 

ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ออกหนังสือขยายเวลาสัญญา เพื่อไม่ให้มีการปรับเพราะเป็นผู้ทิ้งงานอันเกิดมาจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ทั้งนี้มีหลายโครงการได้ก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว ซึ่งเมื่อประเมินแล้ว ก็คาดว่าจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 64 ได้ไม่ต่ำกว่า 95% ของวงเงินงบประมาณ

 

“การเบิกจ่ายจุดที่สำคัญที่สุด คือ หน่วยงาน ที่จะต้องไปเร่งรัดในส่วนของรายละเอียดของแต่ละโครงการ เพราะหากไม่มีการก่อหนี้ผูกพันไว้งบประมาณก็จะถูกพับไป ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานก็เร่งดำเนินการตรงนี้อยู่ แต่ปีนี้ความล่าช้าเกิดจากการระบาดของโควิดเป็นสำคัญ รวมทั้งการเกิดข้อโต้แย้งในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีการเปิดประมูลแล้ว” นายประภาสกล่าว

 

นอกจากนี้ในส่วนของโครงการขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าสูงเป็นหลักหมื่นล้านขึ้นไป เช่น โครงการรถไฟไทย-จีน เป็นต้น ก็ยังติดเรื่องของการยื่นอุทธรณ์โต้แย้ง ซึ่งเมื่อส่งเรื่องมายังกรมบัญชีกลางแล้ว ก็จะเร่งดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จตามกรอบ คือ 30 วัน และขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 60 วัน แต่บางกรณีเมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว เรื่องไม่จบ และมีการฟ้องร้องต่อศาล ทำให้โครงการนั้นๆ ไม่สามารถเบิกจ่ายหรือลงนามในสัญญาได้ ก็ถือเป็นอีกข้อจำกัดของการเบิกจ่ายงบประมาณ

 

ขณะที่ความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 วงเงินรวม 3,499,902.03 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ  3,285,962.48 ล้านบาท และงบกันไว้เบิกเหลื่อมปีอีก 213,939.55 ล้านบาท ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 สามารถเบิกจ่ายแล้ว 2,905,930.56 ล้านบาทคิดเป็น 83.03% แบ่งเป็น งบฯประมาณรายจ่ายประจำปี 2,732,382.76 ล้านบาท คิดเป็น 83.15% ขณะที่งบกันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายไปแล้ว 173,547.80 ล้านบาท คิดเป็น 81.12%

 

สำหรับรายจ่ายประจำปีงบ 64 ภายใต้วงเงินงบประมาณ 3,285,962.48 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2,638,679.05 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 2,372,069.00 ล้าบาทคิดเป็น 89.90% ของวงเงินงบประมาณ และเป็นรายจ่ายลงทุน 647,283.43 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 360,313.76 ล้านบาท คิดเป็น 55.67% ของวงเงินงบประมาณ

 

ขณะที่รายจ่ายลงทุน กรณีไม่รวมงบกลาง ภายใต้วงเงินงบประมาณ 585,144.43 ล้านบาท ณ วันที่ 31 สิงหาคม มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 359,570.67 คิดเป็น 61.45% ของวงเงินงบประมาณ

 

สำหรับการใช้งบประมาณตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ล่าสุดมีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 980,828.23 ล้านบาท จึงเหลือวงเงินเพียง 19,171.77 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีการเบิกจ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติไปใช้เพียง 716,961.94 ล้านบาทเท่านั้น

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564