ดึงบีทีเอส-กัลฟ์เข้าพื้นที่ ลุยด่านมอเตอร์เวย์ 2 สาย

24 ธ.ค. 2564 | 14:33 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 21:42 น.

ทล.ลุยออกหนังสือแจ้งเริ่มงาน 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา เร่งเอกชนเข้าพื้นที่O&M 2มอเตอร์เวย์ บางปะอิน – นครราชสีมา มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ส่งมอบพื้นที่หน้าด่านรอบแรก-งานโยธาบางส่วน ยันไม่มีแนวคิดระดมทุน TFFIF เหตุใช้งบกองทุนมอเตอร์เวย์-PPP เป็นหลัก

โครงการทางพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ สาย อีสาน บางปะอิน-นครราชสีมาและ มอเตอร์เวย์สายตะวันตก บางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวงยังมีความล่าช้าในการเปิดใช้เส้นทาง เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคนานับประการล่าลุด เตรียม ดึง กิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งประกอบด้วย บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เข้าพื้นที่ ก่อสร้างด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

 

 

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 21,329 ล้านบาท ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธา 95% โดยการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด 40 ตอน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 23 ตอน ซึ่งเหลืออีก 17 ตอนที่ยังติดปัญหาเรื่องการปรับแบบก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะเปิดทดลองใช้ให้บริการภายในกลางปี 2566

 

 

 

ขณะเดียวกันกรมฯได้ออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เข้าพื้นที่เริ่มงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง O&M เมื่อในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เบื้องต้นจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในระยะแรกทั้งหมด 9 ด่าน ประกอบด้วย 1.ด่านบางปะอิน 2. ด่านวังน้อย 3. ด่านหินกอง 4.ด่านสระบุรี 5.ด่านแก่งคอย 6. ด่านมวกเหล็ก 7.ด่านปากช่อง 8.ด่านสีคิ้ว 9.ด่านขามทะเลสอ รวมทั้งจะส่งมอบพื้นที่จำนวน 20 ตอนให้แก่เอกชนก่อน ส่วนอีก 3 ตอน อยู่ระหว่างดำเนินการการตรวจรับงานงวดสุดท้าย โดยจะส่งมอบพื้นที่ในระยะต่อไป เบื้องต้นกรมฯได้หารือกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ให้เร่งดำเนินการก่อสร้างงานถนนตอนที่ 34-35 บริเวณด่านสีคิ้วและด่านขามทะเลสอ เพื่อให้เส้นทางตอนที่ 39-40 เชื่อมต่อกันทั้งหมด ซึ่งมีระยะในการก่อสร้างช่วงดังกล่าวราว 3 เดือน ทำให้เส้นทางต่อเชื่อมกันตั้งแต่ตอนที่ 24-40 บริเวณปากช่อง-สีคิ้ว-ทางเลี่ยงเมืองโคราช ระยะทางรวมประมาณ 70 กม. สามารถรองรับการให้บริการประชาชนเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565

ความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81)ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 17,809 ล้านบาท ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธากว่า 60% เบื้องต้นกรมฯจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เข้าพื้นที่เริ่มงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง O&M เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา โดยกรมฯจะส่งมอบพื้นที่ระยะแรกแรก จำนวน 8 ด่าน ประกอบด้วย 1.ด่านบางใหญ่ 2.ด่านนครชัยศรี  3.ด่านศรีษะทอง 4.ด่านนครปฐมฝั่งตะวันออก 5. ด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก  6.ด่านท่าม่วง 7. ด่านท่ามะกา 8.ด่านกาญจนบุรี รวมทั้งสัญญาการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 3 ตอนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดทดลองใช้ให้บริการภายในปลายปี 2566

 

 

 

 

นายสราวุธ  กล่าวต่อว่า ในกรณีที่นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ให้ศึกษาแนวทางการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐนั้น ทางกรมฯ ยืนยันว่าปัจจุบันไม่มีการใช้แนวทางการระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF กับโครงการฯ ต่างๆของกรมฯ เนื่องจากการใช้แนวทางดังกล่าวมีกระบวนการขั้นตอนในการขอกู้เงินจากกระทรวงการคลัง โดยส่วนใหญ่โครงการฯที่อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมฯจะใช้จากการของบประมาณจากภาครัฐและเงินกองทุนมอเตอร์เวย์ รวมทั้งรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เป็นหลัก

“กรมฯจะนำข้อเสนอแนะจากรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมไปศึกษากับบางโครงการฯของกรมฯที่เหมาะสมว่าสามารถทำได้หรือไม่ ส่วนโครงการสะพานข้ามเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) นั้นอาจเป็นโครงการอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจเหมาะแก่การใช้แนวทางการระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบจะต้องดำเนินการได้อย่างไร”

 

 

 


ทั้งนี้โครงการถนนของกรมทางหลวง (ทล.) ที่จะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2565 นั้น ประกอบด้วย 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข9 (M9) สายถนนวงแหวนตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 36 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 56,035 ล้านบาท 2.โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงิน 39,956 ล้านบาท โดยจะใช้จากเงินกองทุน (TFFIF) เพื่อชำระหนี้คืนหลังจากโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กิโลเมต (กม.) ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567  3.โครงการก่อสร้างจุดพักรถบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด ช่วงช่วงพัทยา-มาบตาพุดจุดพักรถ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี (Rest Area) พื้นที่ 66 ไร่ วงเงิน 300 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างจุดพักรถบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา จุดพักรถพื้นที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี (Rest Area) พื้นที่ 117 ไร่ วงเงิน 700 กว่าล้านบาท เบื้องต้นโครงการก่อสร้างจุดพักรถทั้ง 2 โครงการจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบผลการศึกษาโครงการฯ ต่อไป