อุดรฯเร่งเปิด‘ศูนย์อนุรักษ์ควายไทย เฟส2’ ปั้นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม‘อีสานแท้ๆ’

24 ธ.ค. 2564 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 19:03 น.

อบจ.อุดรธานีเดินหน้าศูนย์อนุรักษ์พัฒนาควายไทยระยะที่ 2 ตั้งเป้าเปิดตัวในปีงบ 2565 นี้ หลังหาควายแม่พันธุ์ 100 ตัวแรก แจกให้เกษตรกรสมาชิกยืมเลี้ยง พร้อมพัฒนาศูนย์เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนา เปิดหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบอีสานแท้ๆ

นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากอบจ.อุดรธานี ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับอีก 10 หน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่เมื่อ 22 ต.ค. 2563 เพื่อจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาควายไทย จังหวัดอุดรธานี แบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานระยะที่ 1

 

โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) อุดรธานี เป็นผู้บริหารในระยะเริ่มต้น พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ไปจัดหาแม่ควายพันธุ์จำนวน 100 ตัว เพื่อมอบให้กับเกษตรกร 100 ครอบครัวแรกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย ให้นำไปยืมเลี้ยงแล้ว และในปีงบประมาณ 2565 จะดำเนินการระยะที่ 2 ตามเป้าหมายเปิดตัวศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาควายไทยอย่างเป็นทางการ ในปลายปี 2566

อุดรฯเร่งเปิด‘ศูนย์อนุรักษ์ควายไทย เฟส2’ ปั้นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม‘อีสานแท้ๆ’

นายวิเชียร ขาวขำ นายกอบจ.อุดรฯ แจกจ่ายควายแม่พันธุ์100ตัวให้เกษตรกรยืมเลี้ยง พร้อมผลักดันตั้งหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตอีสาน

โครงการนี้ต่อเนื่องจากความคิดเดิม ที่อบจ.อุดรธานี ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จำนวน 10 หน่วยงาน เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของประชาชนโดยรอบ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ควายไทยให้เหมาะสมสวยงาม สมบูรณ์ตามหลักวิชาการ ให้เป็นอีกอาชีพเสริมจากการทำเกษตร รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกรรม ให้มีการพัฒนาความรู้การทำอาชีพการเกษตรแนวใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคง ยั่งยืน จากการทำ การเกษตรแบบหลากหลายวิธี

 

ซึ่งจะส่งผลเป็นการสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมลํ้าทางสังคม และส่งเสริมอาชีพต่อเนื่องการเลี้ยงควายไทย ตลอดจนส่งเสริมการรท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีอีสานที่แท้จริงและครบวงจร เกิดการท่องเที่ยวชุมชน มีบ้านพักโฮมสเตย์แบบชนบทอีสาน หรือ “เฮือนอีสาน” ที่มีอัตลักษณ์คือ เป็นเรือนยกพื้นสูงมีคอกควายอยู่ใต้ถุนบ้าน เพื่อได้สัมผัสบรรยากาศชนบทอีสานอย่างแท้จริง สืบสานวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่นอีสาน

อุดรฯเร่งเปิด‘ศูนย์อนุรักษ์ควายไทย เฟส2’ ปั้นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม‘อีสานแท้ๆ’

อุดรฯเร่งเปิด‘ศูนย์อนุรักษ์ควายไทย เฟส2’ ปั้นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม‘อีสานแท้ๆ’

นายวิเชียรกล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการในระยะที่ 2 นั้น จะได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในบริเวณโครงการของศูนย์ฯ เช่น บ้านพัก ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดสร้างแลนด์มาร์คบริเวณหน้าศูนย์ฯ ซึ่งจะทำเป็นรูปปั้นควายไทยฝูงใหญ่ แสดงถึงอัตลักษณ์พื้นที่

 

รวมทั้งจัดงบประมาณให้ สนง.ปศุสัตว์จังหวัด จัดหาแม่พันธุ์ควายเพิ่มอีก 100 ตัว เพื่อมอบให้กับเกษตรกรสมาชิกโครงการอีกจำนวน 100 ครอบครัว ไปยืมเลี้ยง โดยเป็นแม่พันธุ์ที่สำนักงานปศุสัตว์ดำเนินการผสมเทียมด้วยนํ้าเชื้อพ่อควายสายพันธุ์ดีติดแล้ว เมื่อเกษตรกรเลี้ยงจนตกลูกตัวที่ 2 แล้ว เกษตรกรจะได้ลูกควายไว้เป็นของตนเองหนึ่งตัว และต้องส่งแม่พันธุ์พร้อมลูกควายหนึ่งตัวคืน เพื่อทางศูนย์ฯจะได้นำไปหมุนเวียนมอบให้เกษตรกรรายอื่นนำไปยืมเลี้่ยงต่อไป

อุดรฯเร่งเปิด‘ศูนย์อนุรักษ์ควายไทย เฟส2’ ปั้นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม‘อีสานแท้ๆ’

ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาควายไทย จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะห้วยโปร่งวัว ริมถนนสายหนองหาน-บ้านดุง ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่เศษ จากพื้นที่ทั้งหมด 600 ไร่เศษ

 

ภายในศูนย์ฯประกอบด้วยถนน พื้นที่จอดรถ ลานกิจกรรมสาธารณะ ส่วนแสดงนิทรรศการ พื้นที่คอกเลี้ยงควาย พื้นที่สาธิตการทำนา พื้นที่อยู่อาศัยของครอบครัวเกษตรกรตัวอย่าง 120 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ในการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี

 

“เป็นการสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ให้หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของจังหวัด ที่แวดล้อมด้วยทะเลบัวแดง ที่อ.หนองหาน ภูฝอยลม อ.หนองแสง วัดป่าบ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง วังนาคินทร์คำชะโนด ที่อ.บ้านดุง วัดป่าภูก้อน อ.นายูง เป็นต้น สามารถใช้เป็นจุดแวะพักการเดินทางท่องเที่ยวได้” นายกอบจ.อุดรธานี กล่าว

 

ภายในศูนย์ มีพื้นที่แสดงนิทรรศการสำคัญ เช่น พื้นที่แปลงนาสาธิต ตั้งแต่เริ่มต้นการทำนาคือ แปลงไถ แปลงดำนา แปลงข้าว แปลงเก็บเกี่ยว จนถึงขั้นตอนการขนข้าวเปลือกขึ้นเล้าข้าว เพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกทำกิจกรรมที่ต้องการได้หลากหลาย และมีลานวัฒนธรรมการ กิจกรรมพิธีกรรมต่างๆ ของชาวอีสาน เช่น ทำบุญแปลงนา หรือการทำขวัญข้าว ทำบุญขวัญเล้าข้าว การทำขวัญข้าวเปลือก ฯลฯ พร้อมกินเย็น “พาแลง” แบบอีสานแท้ๆ พื้นที่โฮมสเตย์แบ่งเป็น 2 โซน โซนที่ 1 มีดอกควายใต้ถุนบ้าน และโซนที่ 2 แบบไม่มีควายใต้ถุนบ้าน ให้นักท่องเที่ยวเลือกแบบได้ตามต้องการ 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,743 วันที่ 26-29 ธันวาคม พ.ศ.2564