พลิกโฉม กรุงเทพฯ ตั้งคลัสเตอร์เกษตรยั่งยืน ปูพรม 50 เขต

22 ธ.ค. 2564 | 12:14 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 19:14 น.

“อลงกรณ์”ประกาศเดินหน้าพัฒนากรุงเทพ สู่”มหานครสีเขียว”มุ่งยกระดับ”สุขภาพคน-คุณภาพเมือง” ชูแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ตั้งกลไก 50 เขต ดีเดย์ 24 ธ.ค. คิกออฟ โครงการวัดสีเขียว คลองสามวาสีเขียว นำร่อง

อลงกรณ์ พลบุตร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองบรรยายพิเศษในงาน Bangkok City Talk 2021  Bangkok Conference on Academic Argument  ผ่านระบบออนไลน์ zoom meeting ในหัวข้อ "เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง : อนาคตของกรุงเทพมหานคร" ผ่านระบบ Facebook live

 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในปี2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกสะท้อนถึงการขยายตัวของเมือง(Urbanization)ในประเทศของเราและเป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคปัจจุบันต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง(Urban Farming)โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด19และยุคต่อไป(Next normal)ที่ต้องให้ความสำคัญระบบนิเวศน์เมืองเรื่องสุขภาพคนและคุณภาพเมือง

 

สำหรับกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วทำให้พื้นที่เกษตรลดลงเหลือเพียงแสนกว่าไร่เป็นเมืองที่มีความมั่นคงทางอาหาร(Food Safety)น้อยมากและพื้นที่สีเขียวยังไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนประชากร คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

 

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงวางโครงสร้างและระบบเป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) 

 

ตามนโยบายของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์”3’s” (Safety-Security-Sustainability) เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และ เกษตรยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น”มหานครสีเขียวแห่งอนาคต”มีวัตถุประสงค์ 6 ประการได้แก่

 

1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง

2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

3. การลดPM2.5และลดก๊าซเรือนกระจก(Green House Gas)

4.การเพิ่มคุณภาพอากาศ

5.การอัพเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน

 6.การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

 

ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ(Climate Change)ของโลก และเป้าหมายของโครงการกรุงเทพสีเขียว2030(Green Bangkok2030)ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เป็น 10 ตารางเมตรต่อคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในทุกระยะ 400 เมตร และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองให้เป็น 1.3 แสนไร่

 

พร้อมทั้งพัฒนาการเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่เมือง รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มรายได้และอาชีพในระดับชุมชนบนโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ควบคู่ไปด้วยกัน