“เจริญชัย” โชว์ กฟน.หม้อแปลงนวัตกรรมไทย ปรับโฉมเมืองใหญ่ ไร้สายไฟบนดิน

21 ธ.ค. 2564 | 18:12 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 01:30 น.

สหรัฐอเมริกามีนวัตกรรมนำหม้อแปลงไฟฟ้าลงดินมาแล้วกว่า 100 ปี ขณะที่สหภาพยุโรปก็มีนวัตกรรมดังกล่าวมาเนิ่นนาน ขณะที่ประเทศไทย รัฐบาลมีความพยายามในการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อปรับภูมิทัศน์เมืองหลวง และเมืองท่องเที่ยวให้สวยงาม แต่ที่ผ่านมายังมีความล่าช้ามาก

 

ล่าสุดนักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดังอย่าง รัสเซล โครว์ ที่เดินทางมาถ่ายภาพยนตร์ และถือโอกาสท่องเที่ยวเมืองไทยได้ถ่ายรูปเซลฟี่โดยมีฉากหลังเป็นสายไฟระโยงระยาง ด้านหนึ่งแม้จะชื่นชมไทยเมืองน่าเที่ยว แต่อีกด้านหนึ่งกระทบภาพลักษณ์ไทยในเชิงลบ โดยสื่อญี่ปุ่นอย่าง Abema Times ได้ตีแผ่สกู๊ปว่า ต้องใช้เวลา 200 ปี ไทยถึงจะนำสายไฟลงดินได้ทั้งหมด

 

ทั้งนี้ความล่าช้าส่วนหนึ่งมาจากไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และมีต้นทุนที่สูง แต่วันนี้ประเทศไทยมีผู้ผลิตหม้อแปลงซับเมอร์ส (Submersiber Transformer) โดยบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นหม้อแปลงในระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ใช้ในการปรับลดแรงดันไฟฟ้าที่ส่งผ่านตามสายระบบจำหน่าย (Distribution Line) ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยที่หม้อแปลงชนิดนี้เป็นหม้อแปลงแบบน้ำมัน (Oil Type) สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นฉนวนในการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรในตัวหม้อแปลง

 

นายประจักษ์  กิติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ (ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กับนวัตกรรม) บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด เผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางบริษัทได้ให้การต้อนรับ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) จาก 6 ส่วนงาน จำนวน 45 คน ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวงนนทบุรี การไฟฟ้านครหลวงเขตบางเขน, ฝ่ายอุปกรณ์งานจำหน่าย, ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า,  ฝ่ายวิจัยและพัฒนา, ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า เยี่ยมชมหม้อแปลงหม้อแปลงอัฉริยะ ซับเมอร์ส (Submersiber Transformer)  ชนิดจมน้ำ ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย โดยบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้าฯ ได้เป็นผู้คิดค้นและผลิต โดยได้รับรหัสที่ 07020011 ขึ้นทะเบียน ระหว่างปี 2562-2570 ระยะเวลา 8 ปี  มีชื่อทางการค้าของผลงานนวัตกรรมไทย : ว่า  หม้อแปลงฟ้าระบบจำหน่ายชนิดดำน้ำ (Submersible Type Distribution Transformer) เพื่อรองรับมิติใหม่ของการนำสายไฟลงดินทั้งระบบ

 

“เจริญชัย” โชว์ กฟน.หม้อแปลงนวัตกรรมไทย ปรับโฉมเมืองใหญ่ ไร้สายไฟบนดิน

 

 “ปัจจุบันระบบสายไฟฟ้าลงดินมีการพัฒนาไปมาก ที่ผ่านมามีการนำระบบไฟฟ้าลงดินนั้นยังคงเหลือหม้อแปลงไฟฟ้าที่ยังคงอยู่บนดิน ดังนั้นหม้อแปลงไฟฟ้าชนิดดำน้ำ จึงเป็นนวัตกรรมที่มาตอบโจทย์ สำหรับการจำหน่ายไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าใต้ดิน”

 

สำหรับเรื่องของไฟฟ้าแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนกังวลคือการถูกไฟดูด หรือไฟฟ้าช็อต โดยเฉพาะเมื่ออยู่ร่วมกับน้ำจะยิ่งทำให้กระแสไฟถูกนำพามาหาได้ไวมากขึ้น ขณะที่หม้อแปลงซับเมอร์สซึ่งการติดตั้งจะถูกฝังลงไปใต้ดิน เมื่อเกิดน้ำท่วมจะมีปัญหาหรือไม่ เรื่องนี้นายประจักษ์ อธิบายว่า ไทยใช้ไฟขนาด 33,000 โวลต์  โดยที่ไฟฟ้า 10,000 โวลต์ จะรั่วไหลออกมาได้เพียง 1 เซนติเมตร เพราะฉะนั้นหากคิดตามกระแสไฟฟ้าของไทย รัศมีที่เป็นอันตรายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีเพียงแค่ 33 เซนติเมตรเท่านั้น

 

“เจริญชัย” โชว์ กฟน.หม้อแปลงนวัตกรรมไทย ปรับโฉมเมืองใหญ่ ไร้สายไฟบนดิน

 

“น้ำมีความต้านทานมากกว่าอากาศ  โดยที่อากาศจะเร็วกว่าเพราะอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งผู้ที่ถูกไฟดูดส่วนใหญ่จะเป็นโวลต์ต่ำ และเป็นการเอามือเข้าไปสัมผัส ขณะที่หม้อแปลงซับเมอร์สจะอยู่ต่ำลงไปใต้ดิน โอกาสที่จะถูกดูดจึงน้อยมาก”

 

ส่วนระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบสายส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าไว้ใต้พื้นดิน ซึ่งได้เดินร้อยท่อฝังดินในโครงสร้างที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสายเคเบิล และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการนำส่งไฟฟ้าโดยเฉพาะ จึงมีความปลอดภัยต่อการใช้งานสูง

 

นายประจักษ์ กล่าวอีกว่า หม้อแปลงดำน้ำเหมาะกับพื้นที่ที่มีจำกัดในการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า  เช่น พื้นที่ทางเท้าที่แคบ พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม หรือพื้นที่ที่ต้องการทัศนียภาพสวยงาม  ซึ่งการติดตั้งหม้อแปลงชนิดนี้สามารถทำงานในสภาวะอยู่ใต้น้ำ มีความแข็งแรงทนทาน สามารถอยู่ใต้น้ำลึกถึง 3 เมตรเหนือระดับฝาถังหม้อแปลง เมื่อเทคโนโลยีดังกล่าวเกิดขึ้นการปลูกป่าในเมืองก็จะง่ายขึ้นไม่ต้องตัดต้นไม้ และทำให้อากาศรวมถึงความร่มรื่นของเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ต้นไม้ได้อยู่ในเมืองมากขึ้น ส่วนน้ำที่ไหลในบ่อก็จะช่วยบรรเทาเรื่องน้ำท่วม

 

“หม้อแปลงจมน้ำ แก้ไขปัญหาหม้อแปลงที่ติดตั้งบนเสาไฟที่ทำให้ทัศนียภาพไม่น่าดู เกะกะ การนำหม้อแปลงลงใต้ดิน จะมีประโยชน์ต่อสังคมและพี่น้องประชาชน ในด้านความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ป้องกันการเกิดอัคคีภัย และยังสร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้เมือง และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าขายในพื้นที่ให้แก่ประชาชน  และที่ดินจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น”

 

“เจริญชัย” โชว์ กฟน.หม้อแปลงนวัตกรรมไทย ปรับโฉมเมืองใหญ่ ไร้สายไฟบนดิน  

           

ทั้งนี้ ทางบริษัทได้ใช้เวลาถึง 2 ปี ในการค้นคว้า และวิจัยพัฒนาหม้อแปลงไฟฟ้าจมน้ำ ร่วมกับสถาบันการศึกษาโดยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ด้วยการนำเทคนิคและความรู้ของการออกแบบหม้อแปลง submersible จากผู้ผลิตต่างประเทศ  มาร่วมสร้างนวัตกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายแบบดำน้ำ(submersible transformer)ในไทย