นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) เปิดเผยว่า แผนการทำงานในปีหน้าว่า อคส.มีงานที่ค้างอยู่หลายงาน โดยเฉพาะการเร่งระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และข้าวเปลือกนาปรังที่ยังคงเหลือในส่วนที่ อคส. ดูแลประมาณ 220,000 ตัน ให้หมดโดยขณะนี้ อคส.อยู่ระหว่างการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน จารณาอนุมัติให้ อคส.ระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลให้เร็วที่สุด ซึ่งอคส.มีเป้าหมายในเดือนกันยายน 2565
โดย ส่วนใหญ่มีทั้งข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ และเป็นข้าวเสื่อมสภาพที่คนและสัตว์ไม่สามารถบริโภคได้แล้ว การระบายข้าวออกไปคาดว่าจะระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่คนและสัตว์เพื่อบริโภค จากประเมินน่าจะเข้าสู่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง โดยหาก นบข.พิจารณาให้อนุมัติแล้ว คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกกว่า 6 เดือนเพื่อดำเนินการประมูล และการส่งมอบข้าวให้ผู้ชนะประมูล และหากระบายได้หมดตามเป้าหมาย คาดว่าจะสามารถปิดบัญชีโครงการรับจำนำได้ และจะทำให้รัฐบาลทราบว่ามีผลขาดทุนเท่าไร
“สาเหตุที่ยัง ระบายไม่หมดเพราะมีการยึดหน่วง คือ ติดปัญหาคดีจากปัญหา ค่าเช่า ชดเชยส่วนต่าง บันทึกแนบท้าย เป็นต้น และหากเป็นสัญญาปกติอคส.จะไม่เสียหาย ซึ่งตามสัญญา เงื่อนไขปกติ อคส.สามารถยกเลิกได้ทุกเวลา แต่การประมูลข้าวที่ผ่านมากลับมีบันทึกแนบท้าย อคส. ไม่มีสิทธิ์ยกเลิก ส่งผลให้ต้องแบกรับค่าเช่า ดังนั้น อคส.จึงต้องการระบายข้าวในสต็อกให้แล้วเสร็จสักที”
โดยปริมาณข้าวที่ อคส. สามารถระบายได้โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจาก นบข. จะมีประมาณกว่า 1 แสนตัน หรือประมาณ ครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 220,000 ตัน โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังมีประมาณข้าวบางส่วนด้วยที่ติดปัญหาของการเคลมประกันข้าวซึ่งก็ตั้งเป้าภายใน 5 เดือนจะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จ เบื้องต้น มีการฟ้องค่าเสียหายไปแล้ว 500,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการเสียหายของโครงการจำนำข้าว และค่าเสียหายก็ยังไม่จบ หากจะจบได้นั้นจำเป็นต้องระบายข้าวให้หมดถึงจะรับรู้ค่าเสียหายได้ ซึ่งจะรับรู้กำไร ขาดทุนที่เกิดจากโครงการได้
สำหรับคดีที่ อคส.รับผิดชอบและต้องดำเนินการ คาดว่า คดีมันสำปะหลังซึ่งมีประมาณ 191 คดี จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ภายใน 2 ปีได้ แต่คดีที่กังวล คือ คดีจากโครงการรับจำนำข้าวเนื่องจากมูลค่าความเสียหายเยอะ เพราะหากเกิดแพ้คดีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ อคส. ทันทีที่ต้องแบกรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจะแบกรับไหวไหม แต่บางคดีที่ชนะคดีไปแล้วก็มี แต่อย่างไรก็ดี จากนี้ อคส. จะจ้างทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิเศษขึ้นมาเพิ่มเติมจากคณะทำงานเดิม เพื่อมาดูสำนวนทุกคดีก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนของกฎหมาย เป้าหมายดูคดีเพ่ง ปกครองก่อน จำนวน 246 คดี ให้ชนะมากที่สุด
“โครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี และนาปรัง ที่ดำเนินการในปีการผลิต 54-57 อคส.ฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วในช่วงรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) รวม 1,143 คดี มูลค่าความเสียหายราว 500,000 ล้านบาทแล้ว จากคดีทั้งหมด แยกเป็น คดีเพ่งจำนวน 246 คดี คดีอาญา 897 คดี กลุ่มที่ดำเนินคดีอยู่ในกลุ่ม เช่น เซอร์แวเยอร์ เจ้าของคลัง เป็นต้น ส่วนดำเนินการจ่ายค่าเช่าให้เจ้าของคลัง อคส. อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนอยู่”