เปิดชื่อ 6 บริษัทอาหารสัตว์รัฐเว้นมาตรการ 1:3 นำเข้าข้าวสาลี 2 แสนตัน

11 ธ.ค. 2564 | 08:17 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2564 | 15:30 น.
4.0 k

เปิดชื่อ 6 บริษัท นบขพ.ไฟเขียว ยกเว้นมาตรการ1 : 3 ควบคุมนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดในประเทศ ระบุนำเข้าปี 2564/65 กว่า 2.03 แสนตัน “ซีพีเอฟ-ไทยยูเนี่ยนฯ” นำเข้ามากสุด สภาเกษตรกรแห่งชาติเผยไม่ติดใจใช้ผลิตอาหารกุ้ง ขณะศก.โลกฟื้นความต้องการข้าวโพดโลกพุ่ง

 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกำหนดให้ข้าวสาลี ที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ อัตราส่วน 1 ต่อ 3 (นำเข้าข้าวสาลี 100 ตัน รับซื้อข้าวโพดในประเทศ 300 ตัน) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลีนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์นั้น

 

 แหล่งข่าวคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า ได้มีการยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี โดยไม่ต้องใช้ระเบียบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 พ.ย.59 ที่กำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ อัตราส่วน 1 ต่อ 3 

 

สืบเนื่องจากทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้ส่งหนังสือผ่านกรมประมง เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีของผู้ผลิตอาหารกุ้งเป็นรายปี ทั้งนี้เพื่อให้ปริมาณสอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการจริง

 

สำหรับปีนี้กรมประมง มีหนังสือลงวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ขอให้นำเสนอคณะกรรมการฯพิจารณายกเว้นมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีของบริษัทผู้ผลิตอาหารกุ้งปี 2565 จำนวน 6 บริษัท ปริมาณรวม 203,600 ตัน ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือซีพีเอฟ, บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (บจก.)

 

 

บจก.อินเทคค์ ฟีด, บจก.ทีอาร์เอฟ ฟีดมิลล์, บมจ.ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบมจ.กรุงไทยอาหาร (กราฟิกประกอบ) ทั้งนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนการนำเข้าข้าวสาลีสำหรับอาหารกุ้งได้อย่างต่อเนื่อง

 

ขอยกเว้นมารการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีสำหรับอาหารกุ้งปี 2565

 

ด้าน นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ติดใจ ในกรณีข้างต้น เพราะการนำเข้าข้าวสาลี ผู้ผลิตอาหารกุ้งต้องยื่นหนังสือรับรองปริมาณการใช้ข้าวสาลีในการผลิตอาหารกุ้งจากกรมประมง เพื่อเป็นเอกสารประกอบการยื่นขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลีกับกรมปศุสัตว์ ซึ่งกรมประมงจะรับรองให้ตามปริมาณที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการผลิตจริง

 

โดยให้ใช้ข้าวสาลีไม่มากกว่า 20% เป็นส่วนผสมในอาหารกุ้ง เนื่องจากต้องใช้ข้าวสาลีเป็นแหล่งพลังงานและใช้วีทกลูเตนจากข้าวสาลีเป็นสารเหนียว เพื่อให้อาหารกุ้งมีความคงทนในน้ำได้นาน 2 ชั่วโมง ตามมาตรฐานอาหารสัตว์น้ำของกรมกรมประมง

 

ด้านกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รายงาน ปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปริมาณ 1.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีปริมาณ 1.58 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 15.51 % โดยไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว

 

 “ข้าวสาลี”  นำเข้าปริมาณ 1.13 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีปริมาณกว่า 1.5 ล้านตัน โดยไทยนำเข้าข้าวสาลี จากประเทศผู้ผลิตหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย ยูเครน และอาร์เจนตินา  “ข้าวบาร์เลย์” นำเข้าปริมาณ 7.52 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปี 2563 ที่นำเข้า 5.42 แสนตัน

 

โดยนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตหลัก คือ  ออสเตรเลีย “ข้าวโอ๊ต” นำเข้า 76 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันที่มีปริมาณ 153 ตัน โดยนำเข้าจากแคนาดา และจีน “ข้าวไรย์” นำเข้า 16 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่นำเข้า 1.50 ตัน โดยนำเข้าจากเยอรมนี และออสเตรเลีย

 

ส่วนสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โลกปี 2564/65 คาดการณ์จะมีผลผลิต 1,204.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 85.60 ล้านตัน จากปริมาณ 1,119.02 ล้านตันของปีก่อน คิดเป็น 7.25% ความต้องการใช้ประมาณ 1,192.07 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 58.45 ล้านตัน จาก  1,133.63 ล้านตัน ในปี 2563/64 คิดเป็น 5.16%

 

เนื่องจากหลายประเทศมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น อาทิ สหรัฐฯ  จีน สหภาพยุโรป และบราซิล ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์และเอทานอล รวมทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

ทั้งนี้การนำเข้าและส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โลก ปี 2564/65 มีประมาณ 190.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.37 ล้านตัน จาก 183.62 ล้านตัน ในปี 2563/64 คิดเป็น 3.67% โดยประเทศผู้นำเข้าสำคัญได้แก่ จีน เม็กซิโก ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป มีการนำเข้าคิดเป็น 39% และประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา ยูเครน และบราซิล มีการส่งออกรวมกันคิดเป็น 86%

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,738 วันที่ 9-11 ธันวาคม 2564