หอการค้าสงขลาเสนอเปิดเวทีฟังความรอบด้าน ทางลง ‘นิคมฯจะนะ’

10 ธ.ค. 2564 | 14:01 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2564 | 21:35 น.

ประธานหอการค้าสงขลาเสนอ เปิดเวทีฟังความเห็นทุกฝ่าย ทางออกปัญหานิคมฯจะนะ ชี้ขัดแย้งจากหน่วยงานรัฐก็ลัดขั้นตอน ฝ่ายคัดค้านก็มุ่งแต่จะล้มการประชุม ต้องเปิดใจฟังกันทุกฝ่ายให้ได้ข้อยุติ โครงการไหนกระทบจริงไม่ทำจะได้หยุด อะไรทำได้จะได้เดินหน้า สร้างเศรษฐกิจพื้นที่

การเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่หน้าทำเนียบ  ปลุกกระแสหนุน-ต้านโครงการนี้ให้ร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาเสนอเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกข้อขัดแย้ง

 

ชี้ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐก็ผิดขั้นตอน ผู้ชุมนุมคัดค้านก็จ้องล้มอย่างเดียว ต้องพูดคุยหาข้อยุติ เพื่อเดินหน้าโครงการที่ทำได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บมจ.ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จัดเวทีฟังความเห็นผ่าน Zoom 4 เวทีรวดช่วงปลายปี

นายธนวัฒน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา

นายธนวัฒน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา แสดงความเห็นกรณีโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” อ.จะนะ จ.สงขลา ว่า ทางออกคือจะต้องมีการรับฟังความเห็น ทั้งกลุ่มคัดค้านและสนับสนุน ปัญหาโครงการนี้ที่ผ่านมามีการดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และไปกีดกันกลุ่มที่คัดค้านที่จะเข้าร่วมแสดงความเห็น แต่กลุ่มคัดค้านเองก็มาแรง คือจะแสดงความคิดเห็นก็คือไม่ให้แสดงความคิดเห็น เอาแต่จะล้มเวที
     

“เมื่อไม่มีการเปิดเวทีเพื่อให้มีการพูดคุยกัน แล้วมันจะทำยังไงได้ทีนี้ ซึ่งทางออกของมันก็คือ การพูดคุยกัน ถ้าคุณบอกว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่เอานะ จะกระทบสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รู้ว่าตัวไหน ซึ่งตัวไหนจะกระทบจริงไม่จริง มันจะต้องดีเบตกันด้วยข้อมูลทางการวิชาการ ซึ่งกลุ่มที่คัดค้านก็มีนักวิชาการ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีข้อมูล เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ร่วมกันและช่วยตรวจสอบ”

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า โครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ได้รับเอกสารจากโครงการ ส่งมาให้อ่านและทำความเข้าใจ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้อ่านและศึกษาข้อมูลแล้ว ซึ่งพบว่าในโครงการมีอะไรดีๆ ตั้งเยอะ เช่น ระบบโลจิสติกส์ อาทิ ท่าเรือนํ้าลึก ท่าซ่อมเรือ ที่จะช่วยแก้ปัญหาระบบการขนส่ง และส่งออกสินค้า ซึ่งปัจจบุบันยังต้องพึ่งพาต่างประเทศ

 

ส่วนโครงการที่เห็นว่าน่ากังวล หรือเป็นห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราก็มาแสดงความคิดกัน โดยให้นักวิชาการมาบอก ว่ามันจะกระทบอะไรบ้าง ก็เอาออกไป ให้เหลือตัวที่จะทำได้ก็จะได้เดินหน้าต่อ มันก็จะเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
     

“เพราะไม่เช่นนั้นภาคใต้เราจะไม่เหลืออะไร โรงไฟฟ้าเราก็ไม่เอา อันโน้นก็ไม่เอา อันนี้ก็ไม่เอา การพัฒนาเมืองมันก็ไม่เกิด ซึ่งทางออกก็คือ การพูดคุยกันด้วยเหตุและผล ด้วยข้อมูลทางวิชาการ เอาตัวเลขมาแสดงให้เห็นทั้งสองฝ่าย”

 

ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ยังกล่าวอีกว่า ภาคเอกชนไม่ได้สนับสนุนโดยต้องการแค่ให้เกิดการลงทุนเท่านั้น ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อที่จะร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะต้องทำการบ้านอย่างหนัก

 

 “ผมก็จะสนับสนุนบางตัวที่ผมเห็นว่าเห็นด้วย เห็นว่าดีแล้ว แต่ก็มีบางตัวที่ยังกํ่ากึ่ง ก็อยากจะรับฟังจากคนที่จะสร้างให้อธิบายเพิ่ม หรือว่าคนคัดค้านก็อยากจะให้มาช่วยกันแสดงความคิดเห็น ช่วยกันดีเบต ไม่จำเป็นที่ต้องเอาทั้งหมด”

 

โปรดอย่ามองภาคเอกชนภาคธุรกิจ ว่าต้องการให้เกิดการลงทุนเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ต้องสนใจอะไรเลย อะไรจะเกิดก็ช่างมัน ซึ่งมันไม่ใช่ เราก็มองสิ่งแวดล้อม เราก็มองผลกระทบด้วย เรามองว่าผลได้ผลเสียมันคุ้มกันหรือไม่

 

 “ไม่ใช่ว่าเราจะตะบี้ตะบันขอให้เกิด มันไม่ใช่ ฉะนั้นเวทีการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เข้ามาร่วมแสดงความเห็น แสดงข้อมูล เป็นเรื่องที่ควรทำ” ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลากล่าว

หอการค้าสงขลาเสนอเปิดเวทีฟังความรอบด้าน ทางลง ‘นิคมฯจะนะ’

ขณะเดียวกันบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีกำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ทั้งที่ 1 จำนวน 4 โครงการที่มีแผนจะลงทุนในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมทั้งสิ้น 4 เวที โดยจัดเวทีละ 2 วัน ระหว่างวันที่ 13-23 ธ.ค. 2564 นี้ แบ่งเป็น

 

วันแรกช่วงเช้า ฟังความเห็นต่อโครงการท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์และท่าเทียบเรือนํ้าลึกทีพีไอ สงขลา (EHIA) ช่วงบ่ายโครงการท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติเหลวและนํ้ามันสำเร็จรูปทีพีไอ สงขลา(EHIA)
     

วันที่สองช่วงเช้า โครงการโรงไฟฟ้าสงขลา (EIA) และช่วงบ่ายโครงการสวนอุตสาหกรรมจะนะ สงขลา ระยะที่ 1 (EIA) 
     

โดยเป็นการจัดประชุมทางไกลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทาง Zoom Cloud Meeting เท่านั้น

 

หน้า11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,739 วันที่ 12-15 ธันวาคม พ.ศ.2564