BOI ลุ้นลงทุนปี 65 ยอดสูงกว่า 6 แสนล้าน ชูสังคมคาร์บอนต่ำสร้างจุดขายใหม่

09 ธ.ค. 2564 | 04:22 น.
547

บีโอไอมั่นใจยอดขอรับส่งเสริมลงทุนปี 64 ทะลุ 6 แสนล้าน ชี้ปี 65 หากไม่สะดุดโควิดระลอกใหม่ยังขยายตัวต่อเนื่อง จากเปิดประเทศช่วยดึงนักลงทุนดูสถานที่จริง ขณะอานิสงส์สงครามการค้า 3 ปี FDI ไหลจากจีนเข้าไทยกว่า 1.2 แสนล้าน ชูสังคมคาร์บอนต่ำสร้างจุดขายใหม่ดูดลงทุนเข้าไทย

 

การลงทุนของภาคเอกชน หนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแม้อัตราการขยายตัวจะไม่โดดเด่นเท่าภาคการส่งออก แต่ตัวเลขของปีนี้ถือว่าทำได้ไม่เลว โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 มีโครงการขอรับการส่งเสริมรวม 1,273 โครงการ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23% มูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดทั้งปี 2564 นี้ จะมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 6 แสนล้านบาท (สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่มากกว่า 5 แสนล้านบาท) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนสูงได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,210 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ 59,210 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 36,760 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร 31,660 ล้านบาท

 

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์

 

นอกจากนี้กลุ่มกิจการด้านสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์ก็มีการลงทุนสูงมากในช่วง 9 เดือนแรก เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า 156,440 ล้านบาท กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม 36,550 ล้านบาท และกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า 20,070 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้หากมองในแง่จำนวนโครงการ กิจการที่มีผู้สนใจขอรับการส่งเสริมมากสุดคือ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 379 โครงการ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร 151 โครงการ และกิจการดิจิทัล 126 โครงการ

 

“จากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมข้างต้น ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 372,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในประเทศไทย อีกทั้งมีบริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยจากได้รับผลกระทบสงครามการค้า ทำให้มั่นใจว่าทั้งปี 2564 จะมีคำขอรับการส่งเสริมมากกว่า 6 แสนล้านบาท”

 

 

BOI ลุ้นลงทุนปี 65 ยอดสูงกว่า 6 แสนล้าน ชูสังคมคาร์บอนต่ำสร้างจุดขายใหม่

 

ส่วนทิศทางแนวโน้มการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 นายนฤตม์ กล่าวว่า หากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ไม่ได้สร้างผลกระทบทำให้ไทยต้องกลับมาปิดประเทศอีก คาดการขยายตัวการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งในแง่เป้าหมายปีหน้ายังไม่ได้หารือกัน โดยปัจจัยสนับสนุนการลงทุนไทยในปีหน้า ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งออกของไทยที่ยังขยายตัวได้ดี ทำให้มีการขอรับการส่งเสริมเพิ่มในอุตสาหกรรมหลักเพิ่ม เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง

 

ขณะที่มีการย้ายฐายการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้ายังมีเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นโครงการจากจีนและไต้หวัน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีย้ายฐานเข้ามาแล้ว 250 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท นอกจากนี้จากการคลี่คลายของสถานการณ์โควิดและการเปิดประเทศของรัฐบาลช่วยให้การเดินทางเข้าประเทศไทยของกลุ่มนักลงทุน ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญสะดวกมากขึ้น ส่งผลดีต่อ การตัดสินใจลงทุนในโครงการใหม่ ๆ

 

นอกจากนี้จากเทรนด์ทั่วโลกมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และบริษัทชั้นนำของโลกได้ยึดแนวทาง ESG (Environmental, Social and Corporate Governance) เป็นนโยบายหลักในการลงทุน ซึ่งการที่ประเทศไทยได้ตอกย้ำเป้าหมายที่ชัดเจนในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแสดงศักยภาพด้าน BCG (Bio-Circular-Green Economy) และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อป้อนภาคธุรกิจ จะเป็นจุดขายใหม่ที่สำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โควิด สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาว่าจะเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นอีกครั้งจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนในไทยได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลโดยบีโอไอควรมีการเร่งรัดให้มีการลงทุนจริงจากผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ไปแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3738 วันที่ 9-11 ธันวาคม 2564