"บีโอไอ" หนุนผู้ประกอบการไทยใช้เทคโนโลยีลดปัญหาสินค้าถูกปลอมแปลง

29 ต.ค. 2564 | 13:43 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 20:42 น.

บีโอไอเปิดเกมรุกหวังช่วยลดปัญหาผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าไทยถูกปลอมแปลง ลอกเลียนแบบ หรือสวมสิทธิ์ในสินค้า ผ่านการให้ความรู้ในหัวข้อ Thailand Anti-Counterfeiting Forum 2021

นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) กล่าวว่า บีโอไอได้ดำเนินการร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)  ในการส่งเสริมสนับสนุน แนวทางการแก้ปัญหาและป้องกันสินค้าไทยจากการปลอมแปลง ลอกเลียนแบบ และสวมสิทธิ์ รวมทั้งส่งเสริมและต่อยอดทางการตลาด เพิ่มยอดขายและมูลค่าให้กับสินค้าไทย 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำผ่านการจัดสัมมนาออนไลน์เรื่อง Thailand Anti-Counterfeiting Forum 2021 สร้างโอกาส พัฒนา ต่อยอดศักยภาพอุตสาหกรรมไทยกับการใช้เทคโนโลยี: ไร้การปลอมแปลง สร้างมูลค่าแบรนด์ และความผูกพันกับลูกค้า

ซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

สำหรับในการสัมมนาจะมีการเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสินค้าไทยที่ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม เช่น แนวทางการสร้างโซลูชั่นเพื่อป้องกันการปลอมแปลง การสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ผู้เข้าร่วมจะมีโอกาสได้ทดลองใช้อุปกรณ์และระบบซอฟต์แวร์ พร้อมทีมงานให้คำแนะนำในการทดลองใช้ระบบโซลูชั่นเพื่อป้องกันการปลอมแปลง จากผู้ผลิตจริงเป็นตัวอย่างเทคโนโลยีที่น่าสนใจ
นางสาวซ่อนกลิ่น กล่าวต่อไปว่า การผลิตสินค้าหรือบริการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการไทย เมื่อสินค้าเป็นที่รู้จักหรือเป็นที่ต้องการของตลาด มักจะมีคู่แข่งผลิตสินค้าที่มีลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงมาแข่งขันในตลาด ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตหลายรายจึงพยายามหาวิธีสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและตราสินค้าของตนเอง
รวมถึงหาแนวทางป้องกันการปลอมแปลง ลอกเลียนแบบ และการถูกสวมสิทธิ์ในสินค้า เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มา คุณภาพของตัวสินค้า และเครื่องหมายการค้า ซึ่งในยุคนี้การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดดังกล่าว ในการสร้างการรับรู้ ป้องกันการลอกเลียนแบบ 
และสร้างความผูกพันต่อตราสินค้าของผู้บริโภค เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยในการป้องกันการลอกเลียนแบบ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากหรือมากเกินความสามารถของผู้ประกอบการ และไม่ต้องลงทุนสูงอย่างที่คิด