กมธ.พลังงาน จี้ มท.มอบอำนาจผู้ว่าฯ ไฟเขียวโรงไฟฟ้าขยะ แก้ปัญหาล่าช้า

28 พ.ย. 2564 | 10:28 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2564 | 17:52 น.
758

กมธ.พลังงาน ชี้แก้โรงไฟฟ้าขยะช้าล่าช้า กระทรวงมหาดไทยควรมอบอำนาจผู้ว่าฯเป็นผู้พิจารณาอนุญาต แก้ปัญหาความล่าช้า พร้อมกำหนดค่าธรรมเนียมการเก็บและกำจัดขยะ 300 บาทบาทต่อตันทั่วประเทศ ด้านสภาอุตฯร้อง กกพ. ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก 23 โครงการ

 

รายงานข่าวเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน (กมธ.การพลังงาน)สภาผู้แทนราษฎร นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานฯ นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ รองประธานฯ นายสมเกียรติ วอนเพียร รองประธานฯ  นายชัยยันต์ ผลสุวรรรณ์ เลขานุการคณะฯ และคณะกรรมาธิการ ได้ประชุมคณะกรรมาธิการครั้งที่ 71 ในการพิจารณาแก้ไขปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน หลังพบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ โดยได้เชิญกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลปัญหาอุปสรรค เพื่อหาแนวทางการแก้ไขให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป  

 

กิตติกร  โล่ห์สุนทร

 

ในการนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชี้แจงการดำเนินนโยบายการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” โรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในส่วนระยะปลายทาง คือ การกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP21) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 76 จังหวัด จำนวน 6,048 แห่ง

 

ทั้งนี้มีขยะที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ ปริมาณ 31,905 ตันต่อวัน หรือประมาณ 11.94  ล้านตันต่อปี แบ่งกลุ่มพื้นที่ ทั้งสิ้น 262 กลุ่ม  กลุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่ มีขยะมากกว่า 500 ตันต่อวัน 11 กลุ่ม, กลุ่มพื้นที่ขนาดกลางมีขยะ 300-500 ตันต่อวัน 11 กลุ่ม และกลุ่มพื้นที่ขนาดเล็ก มีขยะน้อยกว่า 300 ตันต่อวัน จำนวน 240 กลุ่ม

 

กมธ.พลังงาน จี้ มท.มอบอำนาจผู้ว่าฯ ไฟเขียวโรงไฟฟ้าขยะ แก้ปัญหาล่าช้า

 

ด้านความคืบหน้าโครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้า มีจำนวน 49 โครงการ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้า ทั้งสิ้น 442.44 เมกะวัตต์ กำจัดขยะได้ 19,398  ต้นต่อวันหรือ 7.08 ล้านต้นต่อปี

 

โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยผลิตไฟฟ้า ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสามารถดำเนินการ ในระยะแรก Quick Win Projects มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงแล้ว และมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD)  ภายในเดือนธันวาคม ปี 2564 จำนวน 11 โครงการ  84.04  เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์แล้ว 3 โครงการ คือ  ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช 3 เมกะวัตต์,  โครงการกำจัดขยะ กระบี่ 6 เมกะวัตต์,  โครงการกำจัดขยะ นนทบุรี  6.24 เมกะวัตต์

 

กมธ.พลังงาน จี้ มท.มอบอำนาจผู้ว่าฯ ไฟเขียวโรงไฟฟ้าขยะ แก้ปัญหาล่าช้า

 

ส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ 8 โครงการ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 6.50 เมกะวัตต์, เทศบาลตำบลนครหลวง พระนครศรีอยุธยา 8.40 เมกะวัตต์, นนทบุรี 8.50 เมกะวัตต์, ระยอง 9.80 เมกะวัตต์, หนองคาย 8 เมกะวัตต์, เทศบาลนครแม่สอด ตาก 6 เมกะวัตต์, อุดรธานี 9.60 เมกะวัตต์, พระพุทธบาท สระบุรี 9.50 เมกะวัตต์

 

โครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว จำนวน 23 โครงการ รวม  237.8 เมกะวัตต์  โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการต่าง ๆ จำนวน 15 โครงการ 120.60 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ จำนวน 3 โครงการ

 

กมธ.พลังงาน จี้ มท.มอบอำนาจผู้ว่าฯ ไฟเขียวโรงไฟฟ้าขยะ แก้ปัญหาล่าช้า

 

สำหรับปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่ที่โรงไฟฟ้าขยะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง และมาตรการปิดประเทศควบคุมการเดินทาง วิศวกรต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานได้ จึงเป็นเหตุให้โครงการไฟฟ้าขยะ ที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก Quick win project ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ SCOD ได้ภายในปี 2564 จำนวน 6 โครงการ เทศบาลเมืองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี, องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย, เทศบาลนครอุดรธานี, เทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก, องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, เทศบาลตำบลนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้แจ้งว่า ปริมาณขยะ 27 ล้านตันต่อปี การแก้ปัญหาโดยการกำจัดด้วยการฝังกลบแบบไม่เป็นไปตามหลักสุขาภิบาล จะเกิดปัญหา สิ่งแวดล้อม แอมโมเนียแก๊ส และมลภาวะต่าง ๆ รัฐบาลจึงมีการกำหนดนโยบายให้มีโรงไฟฟ้าขยะ โดยให้เอกชนมาร่วมทุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐ ลดปริมาณก๊าชมีเทนที่เกิดขึ้นจากการฝังกลบ และลดการใช้พื้นที่ในการกำจัดขยะ ลดการนำเข้าก๊าชธรรมชาติ LNG และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากการลงทุน โดยมีมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน Feed-in Tariff (FiT) อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 3.66 บาทต่อหน่วย สำหรับ SPP และสำหรับ VSPP 5.78 บาทต่อหน่วย

 

กมธ.พลังงาน จี้ มท.มอบอำนาจผู้ว่าฯ ไฟเขียวโรงไฟฟ้าขยะ แก้ปัญหาล่าช้า

 

โครงการในระยะแรก Quick win project 11 โครงการ ได้รับค่าไฟฟ้าในอัตราดังกล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากนโยบายให้มีโรงไฟฟ้าขยะจะดำเนินการไปได้จะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งการสนับสนุนค่ากำกัดขยะ Tipping Fee ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะดำเนินกิจการไปได้ แต่องค์ประกอบหรือข้อพิจารณาในการทำ Financial Model หรือการสร้างแบบจำลองทางการเงิน ต้องประกอบด้วยเงินลงทุนโครงการ Capital Expenditure หรือ CAPEX ค่าดำเนินงาน และการบำรุงรักษา Operating Expenditure หรือ OPEX ค่าตัวประกอบโรงไฟฟ้า Plant Factor อัตราเงินเฟ้อ Inflation Rate อัตราผลตอบแทนการดำเนินโครงการ Internal Rate of Return หรือ IRR และค่ากำจัดขยะ Tipping Fee เมื่อมี พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าของโครงการได้มีการเสนอโครงการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติประกอบด้วยโรงไฟฟ้าขนาด SPP จำนวน 4 โครงการ และโรงไฟฟ้าขนาด VSPP จำนวน 19 โครงการ

 

ด้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ส่งรายงานให้กระทรวงมหาดไทย ทั้งสิ้น 23 โครงการ มีค่าเฉลี่ยเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาด VSPP 185.25  ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน 20.22 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี และค่าเฉลี่ยกำจัดขยะ 411.8 บาท ต่อตัน เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะมีความเสี่ยงในด้านการลงทุน จากสาเหตุความไม่มั่นคงทางด้านเชื้อเพลิง การไม่สม่ำเสมอของปริมาณขยะ ค่าความชื้น และองค์ประกอบของขยะที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล อัตราผลตอบแทนการดำเนินโครงการ หากต่ำกว่าร้อยละ 12 ธนาคารจะพิจารณาไม่อนุมัติสินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าฟ้าจากขยะ นอกจากนั้นรายงานการศึกษาของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเกี่ยวกับการลงทุนด้านพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน ปี 2559  ให้อัตรา FiT 5.78 บาทต่อหน่วย และค่าเฉลี่ยกำจัดขยะ 300 บาทต่อตัน

 

อัตราการรับซื้อไฟ FiT ซึ่งได้รับการศึกษาจากกระทรวงพลังงานมีความเหมาะสม ที่ 5.78 บาทต่อหน่วย นำมาใช้ในโครงการระยะแรก Quick win project จำนวน 11 โครงการ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ SCOD ได้ 3 โครงการ เนื่องจาก โครงการดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุน CAPEX ในการก่อสร้าง ค่าเหล็กโครงสร้าง ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ และ ค่าแรงของโรงไฟฟ้าขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุก 1 ปี ไม่สามารถลดลงได้เหมือนโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม หรือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการสนับสนุนค่าไฟของโรงไฟฟ้าจากขยะ FIT 5.78 บาทต่อหน่วย มีผลกระทบต่อค่าไฟหน่วยละ 6 สตางค์

 

กมธ.พลังงาน จี้ มท.มอบอำนาจผู้ว่าฯ ไฟเขียวโรงไฟฟ้าขยะ แก้ปัญหาล่าช้า

 

ขณะที่แบบจำลองทางการเงิน Financial Mode! จากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะโดยใช้สมมติฐานที่ มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และสอดคล้องกับข้อมูลที่ผู้ประกอบการดำเนินการจริง ได้แก่ เงินลงทุนโครงการ 165 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ค่าดำเนินงาน และการบำรุงรักษา 16.5 ล้านบาท ต่อเมกะวัตต์ต่อปี หรือร้อยละสิบของทุนโครงการ ค่าตัวประกอบโรงไฟฟ้าร้อยละ 70 อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.2 อัตราผลตอบแทนการดำเนินโครงการ ร้อยละ 1.2 ค่ากำจัดขยะ Tipping Fee 350 บาทต่อตัน เห็นว่าอัตราการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่ 5.78 บาทต่อหน่วย มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการลงทุน

 

สภาอุตสาหกรรมฯ ต้องการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกประกาศระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการทั้งหมด 23 โครงการ ที่กำลังการผลิตติดตั้ง 237.80 เมกะวัตต์ โดยผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย และ กพช. แล้ว และขอให้ กกพ. ประกาศระเบียบรับซื้อไฟฟ้าภายในปี 2565 โดยคงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ 3.66 บาทต่อหน่วย สำหรับ SPP และสำหรับ VSPP 5.78 บาทต่อหน่วย  มีเป้าหมายรับซื้อไฟจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ และตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 - 2580 (AEDP 2018) เพิ่ม 400 เมกะวัตต์ รวม 900 เมกะวัตต์ และขอให้พิจารณาเพิ่มอีก 500 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมือง เพิ่มพื้นที่ฝังกลบให้ภาคเกษตรกรรม และส่งเสริมนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

 

“คณะกรรมาธิการ ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ โครงการก่อสร้างระบบจัดการขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย เห็นควรให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการอนุญาต เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัด จะทราบข้อเท็จจริงของพื้นที่ และเพื่อประโยชน์ในการจัดการแบบบูรณาการปัจจุบัน ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบอำนาจเฉพาะเรื่องการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน พร้อมกันนี้กระทรวงมหาดไทยควรกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการเก็บขยะ และค่าจำกัดขยะ Tipping Fee ในอัตรา 300 บาทต่อตันทั่วประเทศ

 

ปัจจุบันราชการส่วนท้องถิ่น ใช้อัตราตามกฎกระทรวงและข้อบัญญัติท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติการสาธารณ์สุข พ.ศ.2535 เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นไม่ใช้อำนาจของตนเอง ออกประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ ด้วยเหตุคะแนนนิยมกับประชาชนในพื้นที่ แม้ว่าพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 ให้อำนาจราชการส่วนท้องถิ่นในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการแล้วก็ตาม