กนอ. -กัลฟ์- PEA ENCOM ศึกษาแนวทางร่วมทุนธุรกิจไฟฟ้าพื้นที่นิคมฯสมุทรสาคร

26 พ.ย. 2564 | 15:18 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2564 | 22:18 น.

กนอ. -กัลฟ์- PEA ENCOM ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจไฟฟ้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ระบุกำหนดเวลา 2 ปี ตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าภาคอุตสาหกรรม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางร่วมทุนในธุรกิจไฟฟ้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร 
ทั้งนี้ การดำเนินการร่วมมือดังกล่าวจะต่อยอดสู่การทำโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายตรง (Independent Power Supply: IPS) ธุรกิจระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Microgrid & Smart Meter) และธุรกิจบริหารจัดการพลังงาน (Energy Platform) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น โดยที่ความร่วมมือครั้งนี้มีกำหนดดระยะเวลา 2 ปี

สำหรับภารกิจหลักของ กนอ. นั้น คือการจัดหาที่ดินและพัฒนาเพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยจัดให้มีบริการระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ  ซึ่งระบบไฟฟ้าเป็นปัจจัยหลักของการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมถึงกิจกรรมเกี่ยวเนื่องของระบบเศรษฐกิจของประเทศ 

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.
"ความร่วมมือครั้งนี้วัตถุประสงค์หลักคือ เสริมสร้างเสถียรภาพการให้บริการระบบไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบกิจการและนักลงทุนต่อการให้บริการสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวคาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างเสถียรภาพการให้บริการระบบไฟฟ้าของนิคมอุตสาหกรรม และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบกิจการและนักลงทุน ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของประเทศต่อไปในอนาคต"

นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับการเติบโตทางธุรกิจของกัลฟ์ที่มุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยกัลฟ์มีความพร้อมทั้งเรื่องเงินทุน เทคโนโลยี และบุคลากร อีกทั้งมีเครือข่ายในธุรกิจพลังงานชั้นนำทั่วโลก  ซึ่ง GULF พร้อมพัฒนาและลงทุนในนวัตกรรมพลังงานทั้งการผลิตพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจพลังงานระบบดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในอนาคต
นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ PEA ENCOM กล่าว่า การศึกษาและพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยที่สำคัญในการตอบสนองต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยอาศัยความแข็งแกร่งและความร่วมมือระหว่างพันธมิตรในการให้บริการ 
และสร้างความมั่นคงด้านการจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ด้านธุรกิจระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (IPS Microgrid & Smart Meter) รวมถึงธุรกิจบริหารจัดการพลังงาน (Energy Platform) ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต ให้กลายเป็น Smart Energy อย่างเต็มรูปแบบ