GPSC ทุ่มทุน 2.2 พันล. เปลี่ยนขยะเป็นไฟฟ้าครบวงจรแห่งแรกในระยอง

23 พ.ย. 2564 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2564 | 16:57 น.
1.3 k

GPSC ทุ่มเงินกว่า 2.2 พันล้านปั้นโมเดลบริหารจัดการขยะแบบครบวงจรแห่งแรกในจังหวัดระยอง เดินหน้าเปลี่ยนขยะเป็นไฟฟ้าป้อน กฟภ. ต่อยอดและแก้ไขปัญหาขยะให้ชุมชนตามกลยุทธ์นวัตกรรมพลังงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการทุ่มเงินประมาณ 2,217 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนของ ได้แก่ 1. โรงงานผลิตเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) ประมาณ 562 ล้านบาท และ 2. โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะประมาณ 1,655 ล้านบาท

นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPSC กล่าวว่า โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF มีกำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ โดยเป็นโมเดลของการบริหารจัดการขยะครบวงจรแห่งแรกใน จ.ระยอง ตั้งอยู่บนพื้นที่ติดกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จ.ระยอง เพื่อรับเชื้อเพลิง RDF มาผลิตกระแสไฟฟ้า จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (PEA) ซึ่ง GPSC เป็นผู้ลงทุนและดำเนินกิจการ 100%

ศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPSC

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ PEA ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยถือเป็นโครงต้นแบบ เพื่อการบริหารการจัดการขยะแบบครบวงจร ที่จะตอบสนองการเติบโตภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)

สำหรับโรงงานผลิต RDF ดังกล่าว เป็นการต่อยอดการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพจากความร่วมมือระหว่าง GPSC และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) ซึ่งเป็นผู้จัดการขยะจากชุมชน ครอบคลุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดระยอง จำนวน 67 แห่ง ในการป้อนขยะชุมชนเข้าสู่โรงงานผลิต RDF ด้วยกำลังการผลิตที่ GPSC สามารถนำมาคัดแยกขยะในปริมาณ 500 ตัน/วัน หรือ 170,000 ตัน/ปี ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า จากปริมาณขยะชุมชนในจังหวัดระยอง ที่มีอยู่ประมาณ 1,000-1,200 ตัน/วัน ทำให้เกิดความมั่นคงต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ดี โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการต่อยอดและแก้ไขปัญหาขยะของชุมชนใน จ.ระยอง อย่างแท้จริง สามารถลดพื้นที่ฝังกลบขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มใช้เทคโนโลยีเตาเผาไหม้แบบตะครับเคลื่อนที่ (Moving Grate) ที่มีอุณหภูมิ 850-1,100 องศาเซลเซียส และลำเลียงขยะ RDF ด้วยสายพานด้วยระบบปิด ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
 

และมีการรายงานป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Emission Display Board) บริเวณด้านหน้าโรงงาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับหน่วยงานต่างๆ และชุมชนโดยรอบ ว่าการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยบริษัทฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้แทน โรงไฟฟ้า เพื่อร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่การเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

นายศิริเมธ กล่าวอีกว่า GPSC มีการวางกลยุทธ์นวัตกรรมพลังงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจ ด้านความยั่งยืน (ESG) ซึ่งยึดกรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อย่างจริงจัง โดยเชื่อมโยงกลยุทธ์และกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วยการนำนวัตกรรม ความรู้ความสามารถ และ ความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ ในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ส่งมอบพลังงานสะอาดให้กับชุมชนและ สังคม

โรงงานผลิตเชื้อเพลิง RDF

นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้เกิดความปลอดภัย มีอาชีพที่มั่นคง เพื่อช่วยยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะเป็นรากฐานสู่เป้าหมาย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ต่อไปในอนาคต