วินโคสท์ผนึกททบ.5 นำร่องโซลาร์รูฟท็อปสถานีสนามเป้า 264 กิโลวัตต์

22 พ.ย. 2564 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 23:20 น.

วินโคสท์ร่วมมือ ททบ.5 นำร่องโซลาร์รูฟท็อปสถานีสนามเป้า 264 กิโลวัตต์ ก่อนขยายผลติดตั้งพลังงานสะอาดสถานีโครงข่ายทั่วประเทศ

นายจักร จามิกรณ์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสถานวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบ และการพัฒนาระบบแบตเตอรี่สำรอง (ESS)
นอกจากนี้ ยังทำสัญญซื้อขายไฟฟ้า จากการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(Solar Rooftop) ขนาด 264 KWh ร่วมกับ ททบ. 5 ในนามบริษัท ฉะเชิงเทรา เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ วินโคสท์ ถือหุ้นใหญ่   
ทั้งนี้ วินโคสท์ ได้รับสิทธิจาก ททบ.5 แต่เพียงผู้เดียวในการศึกษาและพัฒนา การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสถานีและโครงข่าย และพื้นที่อื่นๆ ของ ททบ.5 โดยเบื้องต้นทางกลุ่มบริษัทฯ จะเป็นผู้ลงทุนและก่อสร้าง โดยแผนจะนำร่องแห่งแรกที่สถานีสนามเป้า ขนาด 264 KWh (กิโลวัตต์ชั่วโมง) พร้อมด้วยการติดตั้งระบบ ESS ขนาด 100 KWh ลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี จะพัฒนาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหลังลงนาม ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565
“การพัฒนาลงทุนติดตั้งที่สถานีสนามเป้านำร่องจะเป็นโซลาร์รูฟท็อป โดยติดตั้งบนหลังคาอาคารสตูดิโอของ ททบ.5 ซึ่งเป็นการลงทุนทั้งหมดจากบริษัทฯ และจะจำหน่ายกลับไปยัง ททบ.5 โดยรูปแบบดังกล่าวจะใช้กับพื้นที่อื่นๆ ที่จะดำเนินการในระยะต่อไป” 
พล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นก้าวสำคัญในการรองรับจุดเปลี่ยนของประเทศในเรื่องของพลังงานที่จะมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นพลังงานทางเลือกที่ไทยได้นำมาใช้มากกว่า 10 ปี โดยหลังจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถสำรองไฟไว้ใช้ได้ช่วงกลางคืน ระบบการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์จึงมีความมั่นคงมากขึ้น 

เตรียมขยายผลติดตั้งพลังงานสะอาดสถานีโครงข่ายทั่วประเทศ
ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าของกิจการต่างๆ ทั้งอาคารสำนักงาน โรงงานและบ้านเรือนประชาชนทั่วไป หันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้น และทำให้พลังงานทดแทนกลายเป็นพลังงานหลักในที่สุด ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการปฏิรูปด้านพลังงานครั้งยิ่งใหญ่ของไทย

พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งการติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) และติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ไทยมีการใช้เป็นพลังงานทางเลือกมา 10 ปี แล้วทั้งที่จริงควรเป็นพลังงานหลัก แต่ติดปัญหาตรงที่ยังขาดแคลนแบตเตอรี่สำรอง เพราะการผลิตไฟขึ้นอยู่กับแสงแดด ตอนกลางคืนจึงไม่มีไฟใช้ ซึ่งบริษัท วินโคสท์ฯ มีความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยีอยู่ก่อนแล้วภายใต้ความร่วมมือกับประเทศจีนในการพัฒนาแบตเตอรี่ที่สามารถนำพลังงานมาใช้ในช่วงกลางคืนได้ 
และได้พัฒนาเทคโนโลยีไปจนถึงระบบที่คุ้มค่าแก่การลงทุนแล้ว และเมื่อ ESS พัฒนามากขึ้นเชื่อว่าภายในปลายปีหน้าจะสมบูรณ์และคุ้มค่าต่อการลงทุนในเชิงธุรกิจ
“โครงการนี้จะเป็นการให้สิทธิวินโคสท์ ในการศึกษาพื้นที่ศักยภาพทั้งสถานีเครือข่ายของ ททบ.5 และพื้นที่ต่างๆ ที่เหมาะสมในการดำเนินงาน โดยการติดตั้งแผงโซลาร์ตามรูปแบบที่เหมาะสมของขนาดพื้นที่เป็นสำคัญ ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อที่จะนำมาสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาด โดยทางกลุ่มวินโคสท์จะลงทุนทั้งหมดและขายไฟให้กับ ททบ.5 ในสัญญา 20 ปี ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ของความยั่งยืนอย่างแท้จริง” 
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจากโครงข่ายสถานีของ ททบ.5 ที่มีศักยภาพมีทั้งสิ้น 53 สถานี ดังนั้นจึงมีแผนจะพัฒนาในเฟสที่ 2 อีก 10 สถานีเครือข่ายที่อยู่ในภูมิภาค โดยคาดว่าจะมีการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 30 ล้านบาท
สำหรับ บมจ.สวนอุตสาหกรรมวินโคสท์ และบริษัทย่อย ได้เริ่มโครงการพลังงานทดแทนบนหลังคา โดยมีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2558 พัฒนาระบบโซล่าคาร์พอร์ทแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ทดลองและพัฒนาระบบสมาร์ท กริดภายในสวนอุตสาหกรรมวินโคสท์ รองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาด 12 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558